About

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

บทที่ 9 อาชีพจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปตามหลักสุขาภิบาล

อาชีพจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปตามหลักสุขาภิบาล 

          ประเทศไทยมีผลผลิตจาการเกษตรกรรมประเภทอาหารที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพแต่ละภูมิภาคที่แตกต่างกันไป การนำผลผลิตจาการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป แล้วกระจายสินค้าสู่ตลาดผู้บริโภคตลาดภายในประเทศ ตลาดอาเซียน และตลาดในภูมิภาคอื่นทั่วโลก เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดอาชีพสำหรับผู้ที่สนใจ
          การถนอมอาหารในปัจจุบันใช้วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปวัตถุดิบจำนวนมากพร้อม ๆ กันเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป หรือปรับปรุงกรรมวิธีการถนอมอาหารสมัยโบราณให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งในด้านความสะอาด สี กลิ่น รส เนื้อสัมผัส และเพื่อยืดอายุการเก็บอาหารนั้นให้ได้นาน เทคโนโลยีการถนอมผลิตผลการเกษตรต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ความรู้พื้นฐานทางสังคมธุรกิจและการจัดการ ควบคู่กับความรู้ในการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ หรือปรับปรุงของเดิมให้ดียิ่งขึ้นทั้งในลักษณะที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ เช่น สี กลิ่น ความนุ่ม ความเหนียว เป็นต้น รวมทั้งสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น คุณค่าทางโภชนาการ
          ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป หมายถึง อาหารที่ได้ผ่านขั้นตอนการหุงต้ม หรือกระบวนการ แปรรูปผลิตผลการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้อาหารนั้นสามารถเก็บได้เป็นเวลานานพอสมควรโดยไม่เน่าเสีย สามารถดื่มหรือรับประทานได้ทันทีเมื่อต้องการ จะอุ่นหรือไม่อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานก็ได้ ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ที่รู้จักกันแพร่หลายคือ อาหารบรรจุกระป๋อง เช่น สับปะรดกระป๋อง หรือบรรจุกล่อง เช่น นมสด
          ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป หมายถึง อาหารที่ได้ผ่านขั้นตอนการหุงต้มหรือกระบวนการแปรรูปแล้ว และสามารถเก็บไว้ได้นานเช่นเดียวกัน จะต้องนำไปหุงต้มและปรุงรสหรือปรุงแต่งก่อนจึงจะรับประทานได้ เช่น น้ำผลไม้เข้มข้น ซึ่งต้องผสมน้ำก่อนดื่ม น้ำพริกแกง เป็นต้น
การแปรรูปหรือการถนอมอาหาร โดยหลักใหญ่คือ การทำลายหรือฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่หรืออาจเกิดขึ้นในอาหาร และทำให้เกิดการเน่าเสียให้หมดไป ปัจจุบันผลิตผลการเกษตรมีมากขึ้น และประชากรมากขึ้นจึงได้มีการศึกษาค้นคว้าและทดลองใช้เทคโนโลยี เพื่อถนอมผลิตผลการเกษตรให้สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น การใช้ความร้อนจากไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในการทำอาหารกระป๋อง การใช้รังสีแกมม่าเพื่อยับยั้งหรือทำลายปฏิกิริยาของเอนไซม์ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางเคมีช้าลง และยังเป็นการทำลายการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อีกด้วย ในที่นี้จะกล่าวถึงกรรมวิธีการถนอมอาหารที่ใช้กันมากในปัจจุบัน คือ
          • การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนสูง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง
          • การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเยือกแข็ง
          • การถนอมอาหารโดยการทำให้แห้ง เช่น ปลาหยอง กาแฟผง
          • การถนอมอาหารโดยการหมักดอง เช่น ซีอิ้ว น้ำส้มสายชู
          • การถนอมอาหารโดยใช้รังสี เช่น หอมหัวใหญ่อาบรังสี
อาชีพจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปตามหลักสุขาภิบาล 
          อาชีพจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป คือ กระบวนการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปไปยังผู้บริโภค โดยคำนึงหลักสุขาภิบาล ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบรรจุหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ การขนส่งและการจัดเก็บเพื่อรอจำหน่าย กระทั่งผลิตภัณฑ์ถึงผู้บริโภค
ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป
          1. ตลาดภายในประเทศ
          2. ตลาดระหว่างประเทศระดับอาเซียน
          3. ตลาดระหว่างประเทศระดับภูมิภาคอื่นทั่วโลก
          ส่วนประสมทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป หมายถึง การดำเนินงานเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่าย การกำหนดราคา และการส่งเสริมการขายได้สัดส่วนกัน เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า สภาพการแข่งขัน และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม (หรือเรียกว่า 4Ps)
          1. Product หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปถูกหลักสุขาภิบาลและตรงตามความต้องการของลูกค้า
          2. Price หมายถึง ราคามีความเหมาะสม ลูกค้าพึงพอใจและยอมรับ
          3. Place หมายถึง การจัดจำหน่ายโดยพิจารณาช่องทางการจำหน่าย หรือขายผ่านคนกลาง หรือพิจารณาการขนส่งว่ามีบทบาทในการแจกตัวอย่างสินค้าได้อย่างไร หรือขั้นตอนการเก็บรักษาเพื่อรอจำหน่าย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงหลักสุขาภิบาล
          4. Promotion หมายถึง การส่งเสริมการตลาด การใช้สื่อต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย หรือการสื่อสารให้ลูกค้าได้ทราบสถานที่จัดจำหน่ายสินค้า ราคา ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการ คือ การขายโดยใช้พนักงานขาย การส่งเสริมการขายด้วยวิธีการแจกของตัวอย่าง แจกคูปอง ของแถม การใช้แสตมป์เพื่อแลกสินค้า ตลอดจนการให้รางวัลต่าง ๆ และการประชาสัมพันธ์

แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ


บทที่ 5 โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม


           โรคทางพันธุกรรม หรือ โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็น โรคที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของฝั่งพ่อและแม่ หากหน่วยพันธุกรรมของพ่อและแม่มีความผิดปกติแฝงอยู่ โดยความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการผ่าเหล่าของหน่วยพันธุกรรมบรรพบุรุษ ทำให้หน่วยพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมได้

โรคมะเร็ง
           มะเร็ง คือ กลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ ที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ รวดเร็ว และมากกว่าปกติ ดังนั้น จึงอาจทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติ และในที่สุดก็จะ ทำให้เกิดการตายของเซลล์ในก้อนเนื้อนั้น เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะการ เจริญเติบโตของหลอดเลือด ถ้าเซลล์พวกนี้เกิดอยู่ในอวัยวะใดก็จะ เรียกชื่อ มะเร็ง ตามอวัยวะนั้นเช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็ง เม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง
อาการและการแสดงออกของโรคมะเร็ง
           1.ไม่มีอาการใดเลยในช่วงแรกขณะที่ร่างกายมีเซลล์มะเร็งเป็นจำนวนน้อย
           2. มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามสัญญาณอันตราย 8 ประการ ที่เป็นสัญญาณเตือน ว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจค้นหาโรคมะเร็ง หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีสัญญาณ เหล่านี้ เพื่อการรักษาและแก้ไขทางการแพทย์ที่ถูกต้องก่อนที่จะกลายเป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งระยะลุกลาม
           3. มีอาการป่วยของโรคทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่างกายทรุดโทรม ไม่สดชื่น และไม่แจ่มใส
           4. มีอาการที่บ่งบอกว่า มะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม หรือเป็นมาก ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็ง ชนิดใดและมีการกระจายของโรคอยู่ที่ส่วนใดของร่างกายที่สำคัญที่สุดของอาการในกลุ่ม นี้ ได้แก่ อาการเจ็บปวด ที่แสนทุกข์ทรมาน
สัญญาณอันตราย 8 ประการ ของโรคมะเร็ง
           1.มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด
           2. กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน
           3. มีอาการเสียงแหบ และไอเรื้อรัง
           4. มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น
           5. แผลซึ่งรักษาแล้วไม่ยอมหาย
           6. มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย
           7. มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
           8. หูอื้อหรือมีเลือดกำเดาไหล

การป้องกันมะเร็ง
  1. รับประทานผักตระกูลกะหล่ำให้มาก เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บรอคโคลี่ ฯลฯเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ส่วนปลาย กระเพาะอาหาร และอวัยวะระบบทางเดินหายใจ
  2..รับประทานอาหารที่มีกากมากเช่น ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด และเมล็ดธัญพืชอื่นๆเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3.รับประทานอาหารที่มีเบต้า- แคโรทีน และ ไวตามินเอ สูงเช่น ผัก ผลไม้ สีเขียว-เหลืองเพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร กล่องเสียง และปอด
  4.รับประทานอาหารที่มีไวตามินซีสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่าง ๆ เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร และ กระเพาะอาหาร
  5.ควบคุมน้ำหนักตัวโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งมดลูก ถุงน้ำดี เต้านม และลำไส้ใหญ่ การออก กำลังกายและการลดรับประทานอาหารที่ให้ พลังงานสูง จะช่วยป้องกันมะเร็ง เหล่านี้ได้
พฤติกรรมการกินลดการเสี่ยงโรคมะเร็ง
  1.ไม่รับประทานอาหารที่มีราขึ้น อาหารที่มีราขึ้นโดยเฉพาะสีเขียว-เหลือง จะมีสารอัลฟาทอกซินปนเปื้อนซึ่งอาจเป็น สาเหตุของโรคมะเร็งตับ
  2. ลดอาหารไขมันอาหารไขมันสูงจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่และต่อมลูกหมาก
  3.ลดอาหารดองเค็ม อาหารปิ้ง-ย่าง รมควัน และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนเตรท- ไนไตร์ทอาหารเหล่านี้ จะทำให้เสี่ยงต่อ มะเร็ง หลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
  4.ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม ฯลฯจะทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ และเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีในตับ
  5.หยุดหรือลดการสูบบุหรี่การสูบบุหรี่ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งปอด กล่องเสียง ฯลฯ การเคี้ยว ยาสูบจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปาก และช่องคอ
  6.ลดการดื่มแอลกอฮอล์ดื่มแอลกอฮอล์ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ตับ ถ้าทั้งดื่มและสูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการ เป็นมะเร็งช่องปาก ช่องคอ กล่องเสียง และหลอดอาหาร
  7. อย่าตากแดดตากแดดจัดมากเกินไป จะเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งผิวหนัง
ตาบอดสี (Color blindness)
          เป็นภาวะการมองเห็นผิดปกติ โดยมากเป็นการตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด และมักพบในเพศชายมากกว่า เพราะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อยบนโครโมโซม ผู้ที่เป็นตาบอดสีส่วนใหญ่จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีเขียวและสีแดงได้ จึงมีปัญหาในการดูสัญญาณไฟจราจร รองลงมาคือ สีน้ำเงินกับสีเหลือง หรืออาจเห็นแต่ภาพขาวดำ และความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง ไม่สามารถรักษาได้
ฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
          โรคฮีโมฟีเลีย คือ โรคเลือดออกไหลไม่หยุด หรือเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่พบมากในเพศชาย เพราะยีนที่กำหนดอาการโรคฮีโมฟีเลียจะอยู่ใน โครโมโซม X และถ่ายทอดยีนความผิดปกตินี้ให้ลูก ส่วนผู้หญิงหากได้รับโครโมโซม X ที่ผิดปกติ ก็จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากมี โครโมโซม X อีกตัวข่มอยู่ แต่จะแฝงพาหะแทน
          ลักษณะอาการ คือ เลือดของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจะไม่สามารถแข็งตัวได้ เนื่องจากขาดสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว อาการที่สังเกตได้ เช่น เลือดออกมากผิดปกติ เลือดกำเดาไหลบ่อย ข้อบวม เกิดแผลฟกช้ำขึ้นเอง แต่โรคฮีโมฟีเลียนี้ สามารถรักษาได้ โดยการใช้สารช่วยให้เลือดแข็งตัวทดแทน
โรคทาลัสซีเมีย ( Thalassemia )
          โรคทาลัสซีเมีย     เป็นโรคเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดผิดปกติ จึงทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ แตกง่าย ถูกทำลายง่าย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงมีเลือดจาง โรคนี้พบได้ทั้งหญิงและชายปริมาณเท่าๆ กัน ถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ทางพันธุกรรมพบได้ทั่วโลก และพบมากในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
           ในประเทศไทยพบผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมียร้อยละ 1 คือประมาณ 6 แสนคน แต่พบผู้เป็นพาหะถึงร้อยละ 30-40 คือประมาณ 20-25 ล้านคน ดังนั้นถ้าหากผู้เป็นพาหะมาแต่งงานกัน และพบยีนผิดปกติร่วมกัน ลูกก็อาจเป็น โรคทาลัสซีเมียได้ ทั้งนี้ โรคทาลัสซีเมีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แอลฟาธาลัสซีเมีย และ เบต้าธาลัสซีเมีย ซึ่งก็คือ ถ้ามีความผิดปกติของสายแอลฟา ก็เรียกแอลฟาธาลัสซีเมีย และถ้ามีความผิดปกติของสายเบต้าก็เรียกเบต้าธาลัสซีเมีย
         ผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมีย จะมีอาการซีด ตาขาวสีเหลือง ตัวเหลือง ตับม้ามโตมาตั้งแต่เกิด ผิวหนังดำคล้ำ กระดูกใบหน้าจะเปลี่ยนรูป มีจมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มนูนสูง กระดูกเปราะ หักง่าย เจริญเติบโตช้ากว่าคนปกติ ส่วนอาการนั้น อาจจะไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตเลยก็ได้ คนที่มีอาการมากจะมีอาการเลือดจางมาก ต้องให้เลือดเป็นประจำ หรือมีภาวะติดเชื้อบ่อย ๆ ทำให้เป็นไข้หวัดได้บ่อยข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมีย คือ ให้ทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง เช่น ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ให้มาก ๆ เพื่อนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดง
โรคคนเผือก (Albinos)
          ผู้ที่เป็น โรคคนเผือก คือ คนที่ไม่มีเม็ดสีที่ผิวหนัง จะมีผิวหนัง ผม ขน และม่านตาสีซีด หรือีขาว เพราะขาดเม็ดสีเมลานิน หรือมีน้อยกว่าปกติ ทำให้ทนแสงแดดจ้าไม่ค่อยได้
โรคดักแด้
          ผู้เป็น โรคดักแด้ จะมีผิวหนังแห้งแตก ตกสะเก็ด ซึ่งแต่ละคนจะมีความรุนแรงของโรคต่างกัน บางคนผิวแห้งไม่มาก บางคนผิวลอกทั้งตัว ขณะที่บางคนหากเป็นรุนแรงก็มักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เข้าทางผิวหนัง
โรคท้าวแสนปม (neurofibromatosis) 
          เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดโดยโครโมโซม ลักษณะที่พบคือ ร่างกายจะมีตุ่มเต็มไปทั่วร่างกาย ขนาดเล็กไปจนใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือชนิดที่พบบ่อย พบประมาณ 1 ใน 2,500 ถึง 3,500 คน โดยพบอาการอย่างน้อย 2 ใน 7 อาการต่อไปนี้คือ มีปานสีกาแฟใส่นมอย่างน้อย 6 ตำแหน่ง, พบก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง 2 ตุ่มขึ้นไป, พบกระที่บริเวณรักแร้หรือขาหนีบ, พบเนื้องอกของเส้นประสาทตา, พบเนื้องอกของม่านตา 2 แห่งขึ้นไป, พบความผิดปกติของกระดูก และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้  ส่วน โรคท้าวแสนปม ประเภทที่ 2 พบได้น้อยมาก ราว 1 ใน 50,000 ถึง 120,000 คน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางผิวหนัง แต่จะพบเนื้องอกของหูชั้นใน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคลูคีเมีย (Leukemia)
          โรคลูคีเมีย หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวจำนวนมากในไขกระดูก จนเบียดบังการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่วนเม็ดเลือดขาวที่สร้างนั้น ก็เป็นเม็ดเลือดขาวตัวอ่อน จึงไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ จึงเป็นไข้บ่อย ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคลูคีเมีย มีหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม กัมมันตภาพรังสี การติดเชื้อ เป็นต้น อาการของผู้ป่วย ลูคีเมีย จะแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น มีไข้สูง เป็นหวัดเรื้อรัง หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวซีด เซลล์ลูคีเมียจะไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการบวมโต บางคนเป็นรุนแรง ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ การรักษา โรคลูคีเมีย ทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดขาว หรืออาจใช้เคมีบำบัด เพื่อให้ไขกระดูกกลับมาทำหน้าที่ตามปกติ
โรคเบาหวาน
          โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทั้งนี้โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง และเป็น โรคทางพันธุกรรม โดยหากพ่อแม่เป็นเบาหวาน ก็อาจถ่ายทอดไปถึงลูกหลานได้และนอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อม วิธีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกันอาการทั่วไปของผู้ที่เป็น โรคเบาหวาน คือจะปัสสาวะบ่อย เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำจากเลือดออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อถ่ายปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และด้วยความที่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน ไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง นอกจากนี้ การมีน้ำตาลคั่งอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ จึงทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย โดยเฉพาะ โรคไตวายเรื้อรัง  หลอดเลือดตีบตีน  อัมพฤกษ์ อัมพาต ต้อกระจก  เบาหวานขึ้นตา ฯลฯ
การป้องกันโรคทางพันธุกรรม
          โรคทางพันธุกรรม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากกจะติดตัวไปตลอดชีวิต ทำได้แต่เพียงบรรเทาอาการไม่ให้เกิดขึ้นมากเท่านั้น ดังนั้นการป้องกัน โรคทางพันธุกรรม ที่ดีที่สุด คือ ก่อนแต่งงาน รวมทั้งก่อนมีบุตร คู่สมรสควรตรวจร่างกาย กรองสภาพทางพันธุกรรมเสียก่อน เพื่อทราบระดับเสี่ยง อีกทั้งโรคทางพันธุกรรม บางโรค สามารถตรวจพบได้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ จึงเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทารกที่จะเกิดมา มีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางพันธุกรรมน้อยลง
โรคภูมิแพ้ 
        โรคภูมิแพ้ หรือโรคแพ้ (Allergy) หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการไวผิดปกติต่อสิ่งซึ่งสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ (Allergen) ซึ่งธรรมชาติสารเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้กับคนปกติทั่วไป  อาการของโรคโรคภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกาย บางคนอาจมีอาการภูมิแพ้ในระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบ โรคภูมิแพ้นั้นเป็นโรคที่สามารถพิสูจน์หาสาเหตุของโรคและสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยบางคนเริ่มจากอาการแพ้อากาศเรื้อรัง เยื่อจมูกอักเสบ เมื่อไม่ได้ใส่ใจรักษา ต่อมาอาจกลายเป็นโรคหอบหืด โรคผื่นคันผิวหนัง เช่น เป็นลมพิษ ปวดศีรษะเรื้อรัง โรคอ่อนเพลียต่างๆ เป็นต้น
การป้องกันและรักษาวิธีรักษาโรคภูมิแพ้ทีดีที่สุดคือการค้นหาสาเหตุของการแพ้นั้นให้พบ เช่น การสอบถามประวัติและอาการของโรค พร้อมทั้งวิเคราะห์สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น บ้าน รถยนต์ โรงเรียน สัตว์เลี้ยง งานอดิเรก ตรวจร่างกายและทดสอบทางผิวหนัง เมื่อทราบว่าแพ้สารใดแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารที่ให้เกิดภูมิแพ้ที่ถูกต้องและอาการของโรคภูมิแพ้ก็จะทุเลา มีวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้อีกประการหนึ่งที่เป็นการรักษาได้ผลดีพอสมควร ได้แก่การหาสาเหตุของโรคภูมิแพ้ให้พบแล้วนำสารก่อภูมิแพ้ที่ตรวจพบนี้นำมาผลิตวัคซีนให้ผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสารที่แพ้ (อิมมูโนบำบัด) คือ รักษาให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานสารที่แพ้ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การรักษาเพื่อ ลดภูมิไว คือให้ร่างกายลดความไวต่อสารที่ก่อให้เกิดโรค
โรคขาดสารอาหาร หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นจากการขาดสารอาหารที่ควรได้รับอย่างพอเพียงในภาวะหนึ่งๆ ซึ่งมีสาเหตุต่างกัน ดังนี้
  1. ได้รับปริมาณน้อยเกินไปจากการขาดความรู้ที่จะเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าหรือจากภาวะทางเศรษฐกิจ
  2. ร่างกายมีความต้องการมากขึ้น เช่น ในภาวะเจ็บป่วย ฟื้นไข้
  3. ความอยากอาหารน้อย การย่อยอาหารไม่ดี
  4. มีการทำลายแหล่งสร้างอาหารในร่างกาย
  5. ยาหรือสารบางชนิดที่มีผลต่อระบบย่อยอาหารของร่างกาย
โรคขาดสารอาหารที่พบมาก ได้แก่
  1. โรคขาดโปรตีนและแคลอรี
  2. โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  3. โรคเหน็บชา
  4. โรคกระดูกอ่อน
  5.โรคคอพอก
  6. โรคตาฟาง
  7. โรคลักปิดลักเปิด
  1.โรคขาดโปรตีนและแคลอรี   เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน  คาร์โบไฮเดรต  และไขมันที่มีคุณภาพดีไม่เพียงพอ  เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี  โดยเฉพาะทารกและเด็กก่อนวัยเรียน  อันเนื่องมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เอาใจใส่เริ่งการกินอาหารหรือไม่มีความรู้ทางโภชนาการดีพอ  ลักษณะอาการของโรคมี 2 รูปแบบ  คือ  ควาซิออร์กอร์ ( Kwashiorkor ) และมาราสมัส
( Marasmus )
  1.1.ควาชิออร์กอร์  เป็นลักษณะอาการที่เกิดจากการขาดสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างมาก  มักเกิดกับทารกที่เลี้ยงด้วยนมข้นหวาน  นมผงผสม  และให้อาหารเสริมประเภทข้าวหรือแป้งเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ร่างกายขาดโปรตีนสำหรับการเจริญเติบโตและระบบต่าง ๆ บกพร่อง  ทารกจะมีอาการซีด  บวมที่หน้า  ขา  และลำตัว  เส้นผมบางเปราะและร่วงหลุดง่าย  ผิวหนังแห้งหยาบ  มีอาการซึมเศร้า  มีความต้านทานโรคต่ำ   ติดเชื้อง่าย  และสติปัญญาเสื่อม
  1.2.มาราสมัส   เป็นลักษณะอาการที่เกิดจากการขาดสารอาหรประเภท โปรตีน  คาร์โบไฮเดรตและไขมันผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการคล้ายกับเป็นควาชิออร์กอร์แต่ไม่มีอาการบวมที่ท้อง  หน้า  และขา  นอกจากนี้ร่างกายจะผอมแห้ง  ศรีษะโตพุงโร  ผิวหนังเหี่ยวย่นเหมือนคนแก่  ลอกออกเป็นชั้นได้  และท้องเสียบ่อยอย่างไรก็ตาม  อาจมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะทั้งควาชิออร์กอร์  และมาราสมัสในคนเดียวกันได้     ประเภทควาชิออร์กอร์และมาราสมัส
  จากการสำรวจพบว่า  ทารกและเด็กก่อนวัยเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นโรคขาดโปรตีน  และแคลอรีมากที่สุด   นอกจากนี้จากรายงานสถานภาพโภชนาการในประเทศไทยของกองโภชนาการ  กรมอนามัย  ยังพบอีกว่าในหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรโดยเฉพาะในชนบทมีภาวะโภชนาการไม่ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์   มีอาการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย   และขณะตั้งครรภ์งดกินอาหารประเภทโปรตีน    เพราะเชื้อว่าเป็นของแสลงทำให้ได้รับพลังงานเพียงร้อยละ  80  และโปรตีนร้อยละ 62 - 69  ของปริมาณที่ควรได้รับ
  การขาดสารอาหารประเภทโปรตีนเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยรุ่น  ด้วยเหตุนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการส่งเสริมให้เลี้ยงทารกด้วยนมมารดามากขึ้น  และส่งเสริมให้เด็กดื่มนมวัวน้ำนมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น  เพราะน้ำนมเป็นสารอาหารที่สมบูรณ์ที่สุดเนื่องจากประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ ครบทั้ง 5 ประเภท
  นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีหน่วยงานหลายแห่งได้ศึกษาค้นคว้าหาวิธีการผลิตอาหารที่ให้คุณค่าโปรตีนแต่มีราคาไม่แพงนัก  ให้คนที่มีรายได้น้อยได้กินกันมากขึ้น  สถาบันค้นคว้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร   มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ได้ค้นคว้าทดลองผลิตอาหารโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนโปรตีนจากสัตว์  เช่น  ใช้ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่เรียกว่า  โปรตีนเกษตร  ที่ผลิตในรูปของเนื้อเทียม  และโปรตีนจากสาหร่ายสีเขียว  เป็นต้น
  2.โรคขาดวิตามิน
โรคขาดวิตามินที่พบในประเทศไทยส่วนมากเป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินเอ  วิตามินบีหนึ่ง  วิตามินบีสอง  และวิตามินซี  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  2.1.โรคขาดวิตามินเอ   เกิดจากอาหารที่มีไขมันต่ำและมีวิตามินเอน้อยคนที่ขาดวิตามินเอ  ถ้าเป็นเด็กการเจริญเติบโตหยุดชะงัก  สุขภาพอ่อนแอ  ผิวหนังหยาบแห้งมีตุ่มสาก ๆ เหมือนหนังคางคกเนื่องจากการอักเสบบริเวณก้น  แขน  ขา  ข้อศอก  เข่า  และหน้าอก  นอกจากนี้จะมีอาการอักเสบในช่องจมูก  หู  ปาก  ต่อมน้ำลาย  เยื่อบุตาและกระจกตาขาวและตาดำจะแห้ง   ตาขาวจะเป็นแผลเป็นที่เรียกว่า  เกล็ดกระดี่   ตาดำขุ่นหนาและอ่อนเหลวถ้าเป็นรุนแรงจะมีผลทำให้ตาบอดได้  ถ้าไม่ถึงกับตาบอดก็อาจจะมองไม่เห็นในที่สลัวหรือปรับตาในความมืดไม่ได้  เรียกว่า  ตาฟาง  หรือ  ตาบอดกลางคืน
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินเอ   ทำได้โดยการกินอาหารที่มีไขมันและอาหารจำพวกผลไม้  ผักใบเขียว  ผักใบเหลือง  เช่น  มะละกอ  มะม่วงสุก  ผักบุ้ง  คะน้า  ตำลึง  มันเทศ  ไข่  นม  สำหรับทารกควรได้กินอาหารเสริมที่ผสมกับตับหรือไข่แดงบด
  2.2.โรคขาดวิตามินบีหนึ่ง  เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินบีต่ำและกินอาหารที่ไปขัดขวางการดูดซึมวิตามินบีหนึ่ง  คนที่ขาดวิตามินบีหนึ่งจะเป็นโรคเหน็บชาซึ้งจะมีอาการชาทั้งมือและเท้า   กล้ามเนื้อแขนและขาไม่มีกำลัง  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบวมร่วมด้วย  ถ้าเป็นมากจะมีอาการใจสั่นหัวใจโตและเต้นเร็ว  หอบ  เหนื่อย  และอาจตายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินบีหนึ่ง  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่งให้เพียงพอและเป็นประจำ   เช่น  ข้าวซ้อมมือ  ตับ  ถั่วเมล็ดแห้ง  และเนื้อสัตว์  และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายวิตามินบีหนึ่ง  เช่น  ปลาร้าดิบ  หอยดิบ  หมาก เมี่ยง  ใบชา  เป็นต้น
  2.3.โรคขาดวิตามินบีสอง  เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินบี สองไม่เพียงพอ  คนที่ขาดวิตามินบีสองมักจะเป็นแผลหรือรอยแตกที่มุมปากทั้งสองข้างหรือซอกจมูกมีเกล็ดใสเล็ก ๆ ลิ้นมีสีแดงกว่าปกติและเจ็บ  หรือมีแผลที่ผนังภายในปากรู้สึกคันและปวดแสบปวดร้อนที่ตา  อาการเหล่านี้เรียกว่า  เป็นโรคปากนกกระจอก  คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  และอารมณ์หงุดหงิด
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินบีสอง  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีวิตามินบีสองให้เพียงพอและเป็นประจำ  เช่น  นมสด  นมปรุงแต่ง  นมถั่วเหลือง  น้ำเต้าหู้  ถั่วเมล็ดแห้งข้าวซ้อมมือ  ผัก  ผลไม้  เป็นต้น
  2.4.โรคขาดวิตามินซี  เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอ  คนที่ขาดวิตามินซีมักจะเจ็บป่วยบ่อย  เนื่องจากมีความต้านทานโรคต่ำ  เหงือกบวมแดง  เลือดออกง่าย  ถ้าเป็นมากฟันจะโยกรวน  และมีเลือดออกตามไรฟันง่าย  อาการเหล่านี้เรียกว่าเป็น  โรคลักปิดลักเปิด
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินซี   ทำได้โดยการกินอาหารที่มีวิตามินซีให้เพียงพอและเป็นประจำ  เช่น  ส้ม  มะนาว  มะขามป้อม  มะเขือเทศ  ฝรั่ง  ผักชี  เป็นต้น  จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า  โรคขาดวิตามิน  ส่วนมากมักจะเกี่ยวกับวิตามินประเภทละลายได้ในน้ำ  เช่น  วิตามินบี  วิตามินอี  และวิตามินเค  มักจะไม่ค่อยเป็นปัญหาโภชนาการ   ทั้งนี้เพราะวิตามินเหล่านี้บางชนิดร่างกายของคนเราสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเเองได้  เช่น  วิตามินดี  ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งและได้รับแสงอาทิตย์เพียงพอ  รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์สามารถเปลี่ยนสารที่เป็นไขมันชนิดหนึ่งใต้ผิวหนังที่เป็นวิตามินดีได้  วิตามินเค  ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่
  3.โรคขาดแร่ธาตุ  แร่ธาตุนอกจากจะเป็นสารอาหารที่ช่วยในการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำหน้าที่ปกติแล้ว  ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกายอีกด้วย  เช่น  เป็นส่วนประกอกบของกระดูกและฟัน  เลือด  กล้ามเนื้อ  เป็นต้น  ดังที่กล่าวแล้ว  ดังนั้น  ถ้าร่างกายขาดแร่ธาตุก็อาจจะทำให้การทำหน้าที่ของอวัยวะผิดปกติ  และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้  ดังนี้
               3.1.โรคขาดธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส  เกิดจากการกินอาหารที่มีแคลเซียมยมและฟอสฟอรัสไม่เพียงพอ  คนที่ขาดแคลเซียมและฟอสฟอรัสจะเป็นโรคกระดูกอ่อน  มักเป็นกับเด็ก  หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร  ทำให้ข้อต่อกระดูกบวม ขาโค้งโก่ง กล้ามเนื้อหย่อน กระดูกซี่โครงด้านหน้ารอยต่อนูน ทำให้หน้าอกเป็นสันที่เรียกว่าอกไก่ ในวัยเด็กจะทำให้เจริญเติบโตช้า โรคกระดูดอ่อนนอกจากจะเกิดการขาดแร่ธาตุทั้งสองแล้ว ยังเกิดจาการได้รับแสงแดดไม่เพียงพออีกด้วย
               การรักษาและป้องกันโรคขาดธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้มากและเป็นประจำ  เช่น  นมสด  ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก  ผักสีเขียว  น้ำมันตับปลา เป็นต้น                            
               3.2.โรคขาดธาตุเหล็ก   เกิดจากการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอหรือเกิดจากความผิดปกติในระบบการย่อยและการดูดซึม  คนที่ขาดธาตุเหล็กจะเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากร่างกายสร้างเฮโมโกลบินได้น้อยกว่าปกติ  ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร   มีความต้านทานโรคต่ำ  เปลือกตาขาวซีด  ลิ้นอักเสบ  เล็บบางเปราะ  และสมรรถภาพในการทำงานเสื่อม            
                 การรักษาและป้องกันโรคขาดธาตุเหล็ก  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กและโปรตีนสูงเป็นประจำ   เช่น  ตับเครื่องในสัตว์  เนื้อสัตว์  ผักสีเขียว  เป็นต้น
                3.3.โรคขาดธาตุไอโอดีน  เกิดจากการกินอาหารที่มีไอโอดีนต่ำหรืออาหารที่มีสารขัดขวางการใช้ไอโอดีนในร่างกาย  คนที่ขาดธาตุไอโอดีนจะเป็นโรคคอพอก  และต่อมไทรอยด์บวมโต  ถ้าเป็นตั้งแต่เด็กจะมีผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจ  ร่างกายเจริญเติบโตช้า  เตี้ย  แคระแกร็น  สติปัญญาเสื่อม  อาจเป็นใบ้หรือหูหนวกด้วย  คนไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นโรคนี้กันมาก  บางทีเรียกโรคนี้ว่า
โรคเอ๋อ
                   การรักษาและป้องกันโรคขาดธาตุไอโอดีน  ทำได้โดยการกินอาหารทะเลให้มาก  เช่น  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  เป็นต้น  ถ้าไม่สามารถหาอาหารทะเลได้ก็ควรบริโภคเกลืออนามัย  ซึ่งเป็นเกลือสมุทรผสมไอโอดีนที่ใช้ในการประกอบอาหารแทนได้  นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารขัดขวางการใช้ไอโอดีน  เช่น  พืชตระกูลกระหล่ำปลี  ซึ่งก่อนกินควรต้มเสียก่อน

แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ

บทที่ 8 ทักษะชีวิตเพื่อสุขภาพชีวิต

ความหมาย ความสำคัญของทักษะชีวิต 

ความหมายของทักษะชีวิต
              คำว่าทักษะ (Skill) หมายถึง ความจัดเจนและความชำนิชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งบุคคลสามารถสร้างขึ้นได้จากการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการอาชีพ การกีฬา การทำงานร่วมกับผู้อื่น การอ่าน การสอน การจัดการ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางภาษา ทักษะทางการใช้เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งเป็นทักษะภายนอกที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากการกระทำ หรือจากการปฏิบัติ ซึ่งทักษะดังกล่าวนั้นเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่จะทำให้ผู้มีทักษะเหล่านั้นมีชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ โดยมีโอกาสที่ดีกว่าผู้ไม่มีทักษะดังกล่าว ซึ่งทักษะประเภทนี้เรียกว่า Livelihood Skill หรือ Skill for Living ซึ่งเป็นคนละอย่างกับทักษะชีวิต ที่เรียกว่า Life Skill
              ดังนั้น ทักษะชีวิต หรือ Life Skill จึงหมายถึง คุณลักษณะหรือความสามารถเชิงสังคม จิตวิทยา (Phychosocial Competence) ที่เป็นทักษะภายในที่จะช่วยให้บุคคลสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต ไม่
ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพ เอดส์ ยาเสพติด ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม คุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หรือจะกล่าวง่ายๆ ทักษะชีวิต ก็คือ ความสามารถในการแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวในอนาคต
ความสำคัญของทักษะชีวิต
              เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนในการดำเนินชีวิต เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ สังคม ข่าวสารข้อมูล และเทคโนโลยี มีการแข่งขันและความขัดแย้งมากขึ้น บุคคลมีความจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง มีความสามารถในการแข่งขัน สามารถสู้กระแสวิกฤติต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผล รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาตนและพัฒนาอาชีพ มีความเข้าใจสถานการณ์และมีวิจารณญาณในการเลือกรับเลือกปฏิเสธ มีความสามารถควบคุมอารมณ์และบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิต และมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น จึงจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ทักษะชีวิตที่จำเป็น 
              ทักษะชีวิตจะมีความแตกต่างกันตามวัฒนธรรมและสถานที่อย่างไรก็ตาม มีทักษะชีวิตอยู่กลุ่มหนึ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกคนควรต้องมีโดอยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ ดังนี้
              1. ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making) เป็นความสามารถในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีระบบ เช่น ถ้าบุคคลสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการกระทำของตนเองที่เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านสุขภาพ หรือความปลอดภัยในชีวิต โดยประเมินทางเลือกและผลที่ได้จากการตัดสินใจเลือกทางที่ถูกต้องเหมาะสม ก็จะมีผลต่อการมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ
              2. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) เป็นความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมีระบบไม่เกิดความเครียดทางกายและจิตใจ จนอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตเกินแก้ไข
              3. ทักษะการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เป็นความสามารถในการคิดที่จะเป็นส่วนช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาโดยการคิดสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาทางเลือกต่างๆ รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก และสามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
              4. ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และประเมินปัญหาหรือสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวเราที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต
              5. ทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) เป็นความสามารถในการใช้คำพูดและท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมและ
สถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การแสดงความต้องการ การแสดงความชื่นชม การขอร้อง การเขรจาต่อรอง การตักเตือน การช่วยเหลือ การปฏิเสธ ฯลฯ
              6. ทักษะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) เป็นความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกัน และสามารถรักษาสัมพันธภาพไว้ได้ยืนยาว
              7. ทักษะการตระหนักรู้ในตน (Self Awareness) เป็นความสามารถในการค้นหา รู้จักและเข้าใจตนเอง เช่น รู้ข้อดี ข้อเสียของตนเอง รู้ความต้องการและสิ่งที่ไม่ต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ตัวเองเวลาเผชิญกับความเครียดหรือสถานการณ์ต่างๆ และทักษะนี้ยังเป็นพื้นฐานของการพัมนาทกัษะอื่นๆ เช่น การสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพ การตัดสินใจ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
              8. ทักษะการเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น (Empathy) เป็นความสามารถในการเข้าใจความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างบุคคล ในด้านความสามารถ เพศ วัย ระดับการศึกษา ศาสนา ความเชื่อ สีผิว อาชีพ ฯลฯ ช่วยให้สามารถยอมรับบุคคลอื่นที่ต่างจากเรา เกิดการช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ด้อยกว่า หรือได้รับความเดือดร้อน เช่น ผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดเชื้อเอดส์
              9. ทักษะการจัดการกับอารมณ์ (Coping with Emotion) เป็นความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้ว่าอารมณ์มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมอย่างไร รู้วีการจัดการกับอารมณ์โกรธและความเศร้าโศกที่ส่งผลทางลบต่อร่างกายและจิตใจได้อย่างเหมาะสม
              10. ทักษะการจัดการกับความเครียด (Coping with Stress) เป็นความสามารถในการรับรู้ถึงสาเหตุของความเครียด รู้วิธีผ่อนคลายความเครียด และแนวทางในการควบคุมระดับความเครียด เพื่อให้เกิดการเบี่ยนเบนพฤติกรรมไปในนทางที่ถูกต้องเหมาะสมและไม่เกิดปัญหาด้านสุขภาพ
กลวิธีในการสร้างทักษะชีวิต 
จากทักษะชีวิตที่จำเป็น 10 ประการ สามารถแบ่งได้เป้น 2 ส่วน ดังนี้
              1. ทักษะชีวิตทั่วไป คือ ความสามารถพื้นฐานที่ใช้เผชิญปัญหาปกติในชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด สุขภาพ การคบเพื่อน การปรับตัว ครอบครัวแตกแยก การบริโภคอาหาร ฯลฯ
              2. ทักษะชีวิตเฉพาะ คือ ความสามารถที่จำเป็นในการเผชิญปัญหาเฉพาะ เช่น ยาเสพติด โรคเอดส์ ไฟไหม้ น้ำท่วม การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ

แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ


บทที่ 7 ผลกระทบจากสารเสพติด

 สารเสพติด

ความหมายของยาเสพติด
           ยาเสพติด หมายถึง สารใดก็ตามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือสารที่สังเคราะห์ขึ้น เมี่อนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยวิธีรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใด ๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจนอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดการเสพติดได้ หากใช้สารนั้นเป็นประจำทุกวัน หรือวันละหลาย ๆ ครั้ง
          ลักษณะสำคัญของสารเสพติด จะทำให้เกิดอาการ และอาการแสดงต่อผู้เสพดังนี้
          ๑. เกิดอาการดื้อยา หรือต้านยา และเมื่อติดแล้ว ต้องการใช้สารนั้นในประมาณมากขึ้น
          ๒. เกิดอาการขาดยา ถอนยา หรืออยากยา เมื่อใช้สารนั้นเท่าเดิม ลดลง หรือหยุดใช้
          ๓. มีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่างรุนแรงตลอดเวลา
          ๔. สุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง เกิดโทษต่อตนเอง ครอบครัว ผู้อื่น ตลอดจนสังคม และประเทศชาติ
ความหมายตามกฎหมาย
          ยาเสพติดให้โทษ หมายความว่า สารเคมี หรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้ว ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญเช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพเรื่อยๆ มีอาการถอนยา เมื่อขาดยามีความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตอย่างรุนแรงอยู่ตลอดเวลาและสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง กลับให้รวมถึงพืช หรือ ส่วนของพืชที่เป็น หรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษและสารเคมี ที่ใช้ใน
การผลิตยาเสพติดให้โทษดังกล่าวด้วย ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึง ยาสำคัญประจำบ้านบางตำรับตามที่กฎหมายว่าด้วยยาที่มี ยาเสพติดให้โทษผสม อย
          สารเสพติด  หมายถึงสิ่งที่เสพเข้าไปในร่างกายแล้วทำให้ร่างกายต้องการสารนั้นในปริมาณที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถหยุดได้  มีผลทำให้ร่างกายทรุดโทรมและสภาวะจิตใจผิดปกติ
ยาเสพติด หมายถึง สารหรือยาที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือจากการสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดย การกิน ดม สูบ ฉีด หรือ ด้วยประการใด ๆ แล้วจะทำให้เกิดผล ต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น
          - ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
          - มีอาการอยากยาเมื่อขาดยา
          - มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
          - สุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง
ประเภทของยาเสพติด
          ยาเสพติด แบ่งได้หลายรูปแบบ ตามลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
          1. แบ่งตามแหล่งที่เกิด ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
               1.1 ยาเสพติดธรรมชาติ (Natural Drugs) คือยาเสพติดที่ผลิตมาจากพืช เช่น ฝิ่น กระท่อม กัญชา เป็นต้น  ฝิ่น  กระท่อม
          1.2 ยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) คือยาเสพติดที่ผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน เป็นต้น
เฮโรอีน ยาบ้า
          2. แบ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
          2.1 ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 ได้แก่ เฮโรอีน แอลเอสดี แอมเฟตามีน หรือยาบ้า ยาอีหรือยาเลิฟ
          2.2 ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 ยาเสพติดประเภทนี้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน หรือโคคาอีน โคเคอีน และเมทาโดน
          2.3 ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 3 ยาเสพติดประเภทนี้เป็นยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดประเภทที่ 2ผสมอยู่ด้วย มีประโยชน์ทางการแพทย์ การนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น หรือเพื่อเสพติด จะมีบทลงโทษกำกับไว้ ยาเสพติดประเภทนี้ ได้แก่ ยาแก้ไอ ที่มีตัวยาโคเคอีน ยาแก้ท้องเสีย ที่มีฝิ่นผสมอยู่ด้วย ยาฉีดระงับปวดต่าง ๆ เช่น มอร์ฟีน เพทิดีน ซึ่งสกัดมาจากฝิ่น
          2.4  ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 4 คือสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ยาเสพติดประเภทนี้ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดโรคแต่อย่างใด และมีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย ได้แก่น้ำยาอะเซติคแอนไฮไดรย์ และ อะเซติลคลอไรด์ ซึ่งใช้ในการเปลี่ยนมอร์ฟีนเป็นเฮโรอีน สารคลอซูไดอีเฟครีน สามารถใช้ในการผลิตยาบ้าได้ และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอีก 12 ชนิด ที่สามารถนำมาผลิตยาอีและยาบ้าได้
          2.5 ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เป็นยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 1 ถึง 4ได้แก่ ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม เห็ดขี้ควาย เป็นต้น
 
 มอร์ฟีน  ยาอี กัญชา
          3. แบ่งตามการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
          3.1 ยาเสพติดประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สารระเหย และยากล่อมประสาท
          3.2 ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน กระท่อม และ โคคาอีน
          3.3 ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็มพี และ เห็ดขี้ควาย
          3.4 ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กล่าวคือ อาจกดกระตุ้น หรือ หลอนประสาทได้พร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น กัญชา   สารระเหย    โคเคน     เห็ดขี้ควาย
          4. แบ่งตามองค์การอนามัยโลก ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 9 ประเภท คือ
          4.1 ประเภทฝิ่น หรือ มอร์ฟีน รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เพทิดีน
          4.2 ประเภทยาปิทูเรท รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์ทำนองเดียวกัน ได้แก่ เซโคบาร์ปิตาล อะโมบาร์ปิตาล พาราลดีไฮด์ เมโปรบาเมท ไดอาซีแพม เป็นต้น
          4.3 ประเภทแอลกอฮอล ได้แก่ เหล้า เบียร์ วิสกี้
          4.4 ประเภทแอมเฟตามีน ได้แก่ แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน
          4.5 ประเภทโคเคน ได้แก่ โคเคน ใบโคคา
          4.6 ประเภทกัญชา ได้แก่ ใบกัญชา ยางกัญชา
          4.7 ประเภทใบกระท่อม
          4.8 ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอลเอสดี ดีเอ็นที เมสตาลีน เมลัดมอนิ่งกลอรี่ ต้นลำโพง เห็ดเมาบางชนิด
          4.9 ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจาก 8 ประเภทข้างต้น ได้แก่ สารระเหยต่าง ๆ เช่น ทินเนอร์ เบนซิน น้ำยาล้างเล็บ ยาแก้ปวด และบุหรี่
พฤติกรรมของผู้ติดสิ่งเสพติด 
            1.  ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม  ชอบแยกตัวเอง
            2.  แต่งกายไม่เรียบร้อย  สกปรก
            3.  สีหน้าแสดงความวิตก  ซึมเศร้า  ไม่กล้าที่จะสู้หน้าคน
            4.  เมื่อขาดยา  มีอาการกระวนกระวาย  หายใจลึก  กล้ามเนื้อกระตุก  ทุรนทุราย คลุ้มคลั่ง
การป้องกันการเสพยาเสพติด 
            1.  เลือกคบเพื่อนที่ดี  หลีกเลี่ยงการคบเพื่อนที่ติดสิ่งเสพติด
            2.  ไม่ทดลอง  สิ่งเสพติดทุกชนิด
            3.  เล่นกีฬา  ออกกำลังกาย  หากิจกรรมนันทนาการเล่นเมื่อมีเวลาว่าง
            4.  สถาบันการศึกษาควรให้การอบรมเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด
            5.  ควรมีความอบอุ่นแก่ครอบครัว  ดูแลสมาชิกในครอบครัว  อย่างใกล้ชิด
โทษของยาเสพติด
โทษเนื่องจากการเสพสิ่งเสพติดแบ่งออกได้ ดังนี้
1.  โทษต่อร่างกาย  สิ่งเสพติดทำลายทั้งร่างกายและจิตใจ  เช่น  ทำให้สมองถูกทำลาย  ความจำเสื่อม  ดวงตาพร่ามั่ว  น้ำหนักลด  ร่างกายซูบผอม  ตาแห้ง  เหม่อลอย ริมฝีปากเขียวคล้ำ  เครียด  เป็นต้น
2.  โทษต่อผู้ใกล้ชิด  ทำลายความหวังของพ่อแม่และทุกคนในครอบครัว  ทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสีย
3.  โทษต่อสังคม  เกิดปัญหาทางด้านอาชญากรรม  สูญเสียแรงงาน  สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการปราบปรามและการบำบัดรักษา
4.  โทษต่อประเทศไทย  ทำลายเศรษฐกิจของชาติ
โทษของยาเสพติด
โทษเนื่องจากการเสพสิ่งเสพติดแบ่งออกได้ ดังนี้
1.  โทษต่อร่างกาย  สิ่งเสพติดทำลายทั้งร่างกายและจิตใจ  เช่น  ทำให้สมองถูกทำลาย  ความจำเสื่อม  ดวงตาพร่ามั่ว  น้ำหนักลด  ร่างกายซูบผอม  ตาแห้ง  เหม่อลอย ริมฝีปากเขียวคล้ำ  เครียด  เป็นต้น
2.  โทษต่อผู้ใกล้ชิด  ทำลายความหวังของพ่อแม่และทุกคนในครอบครัว  ทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมเสีย
3.  โทษต่อสังคม  เกิดปัญหาทางด้านอาชญากรรม  สูญเสียแรงงาน  สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการปราบปรามและการบำบัดรักษา
4.  โทษต่อประเทศไทย  ทำลายเศรษฐกิจของชาติ


แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ

บทที่ 6 การปลอดภัยจากการใช้ยา

เรื่อง ยาสามัญประจำบ้าน

           ยาสามัญประจำบ้าน หมายถึง ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน โดยมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนได้ใช้ยาเหล่านี้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ และไม่มีอาการรุนแรง เช่น ไอ ปวดศีรษะ ถูกน้ำร้อนลวก ท้องอืดท้องเฟ้อ ถูกมีดบาด เป็นต้น
ยาสามัญประจำบ้าน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยาตำราหลวง เป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีราคาถูก สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
          ยาสามัญประจำบ้าน คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาคัดเลือกว่าเป็นยาที่เหมาะสมที่จะให้ประชาชนหาซื้อมาใช้ได้ด้วยตนเอง เพื่อการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่มักจะเกิดขึ้นได้ จัดเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง หากใช้อย่างถูกต้องก็จะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น ประกอบกับราคาย่อมเยา หาซื้อได้ทั่วไป เพราะกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ยาสามัญประจำบ้านกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนดูแลตนเองได้อย่างทั่วถึง จึงไม่บังคับให้ขายในร้านขายยาเหมือนยาอื่นๆ ทั้งนี้ ยาสามัญประจำบ้านมีทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ ยาสามัญประจำบ้านมีทั้งหมด 53 ชนิด นำมาใช้กับโรคหรืออาการของโรคได้ 16 กลุ่ม ดังนี้
          1.ยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาสามัญประจำบ้านในกลุ่มนี้คือ ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง ยาเม็ดแก้ท้องอืดท้องเฟ้อโซดามินต์ ยาขับลม ย.าน้ำแก้ท้องอืดท้องเฟ้อโซเดียมไบคาร์บอเนต ยาทาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อทิงเจอร์มหาหิงค์ ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา-แมกนีเซีย ยาน้ำลดกรดอะลูมินา-แมกนีเซีย
          2.ยาบรรเทาปวดลดไข้ มียาเม็ดบรรเทาปวดลดไข้แอสไพริน ยาเม็ดบรรเทาปวดลดไข้พาราเซตามอลขนาด 500 ม.ก.และขนาด 325 ม.ก.และยาน้ำบรรเทาปวดลดไข้พาราเซตามอล ปลาสเตอร์บรรเทาปวด
          3.ยาดม หรือยาทาแก้วิงเวียนหน้ามืด คัดจมูก ได้แก่ ยาดมแก้วิงเวียนเหล้าแอมโมเนียหอม ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
          4.ยาแก้เมารถ เมาเรือ ได้แก่ ยาแก้เมารถเมาเรือไดเมนไฮดริเนท
          5.ยาสำหรับโรคปากและลำคอ ได้แก่ ยากวาดคอ ยารักษาลิ้นเป็นฝ้าเยนเชี่ยนไวโอเลต ยาแก้ปวดฟัน ยาดมบรรเทาอาการระคายคอ
          6.ยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คือ รักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีนครีม
          7.ยาสำหรับโรคผิวหนัง มี ยารักษาหิดเหาเบนซิลเบนโซเอต ยารักษาหิดขี้ผึ้งกำมะถัน ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง ยาทาแก้ผดผื่นคันคาลาไมน์ ยารักษาเกลื้อนโซเดียมไทโอซัลเฟต
          8.ยาแก้ท้องเสีย มี ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่
          9.ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย คือยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง
          10. ยาระบาย ประกอบด้วย ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่ ยาระบายแมกนีเซีย ยาระบายมะขามแขก ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ชนิดสวนทวาร
          11.ยาถ่ายพยาธิลำไส้ มียาถ่ายพยาธิตัวกลมมีเบนดาโซล ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม ได้แก่ พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิเข็มหมุด พยาธิแส้ม้า
          12.ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก มียาเม็ดแก้แพ้ลดน้ำมูกคลอร์เฟนิรามีน
          13.ยาแก้ไอ ขับเสมหะ ประกอบด้วย ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก ยาแก้ไอน้ำดำ
          14.ยาสำหรับโรคตา มี ยาหยอดตาซัลฟาเซตาไมด์ ยาล้างตา
          15.ยาใส่แผล ยาล้างแผล มี ยาใส่แผลทิงเจอร์ไอโอดีน ยาใส่แผลทิงเจอร์ไทเมอรอซอล ยาใส่แผลโพวิโดนไอโอดีน ยาไอโซโบรฟิลแอลกอฮอล์ ยาเอทธิลแอลกอฮอล์ น้ำเกลือล้างแผล
          16.ยาบำรุงร่างกาย ได้แก่ ยาเม็ดวิตามินบีรวม ยาเม็ดวิตามินซี ยาเม็ดบำรุงโลหิตเฟอร์รัสซัลเฟต ยาเม็ดวิตามินรวม ยาน้ำมันตับ
อันตรายจากการใช้ยา
  1. การดื้อยาและการต้านยา (Drug Resistance and Drug Tolerance)
  การดื้อยา เป็นภาวะที่เชื้อโรคต่างๆที่เคยถูกทำลายด้วยยาชนิดหนึ่งๆ สามารถปรับตัวจนกระทั่งยานั้นไม่สามารถทำลาย ได้อีกต่อไป เชื้อโรคที่ดื้อยาแล้วจะสามารถถ่ายทอดคุณสมบัตินี้ไปยังเชื้อโรครุ่นต่อไป ทำให้การใช้ยาชนิดเดิมไม่สามารถ ใช้ทำลายหรือรักษาโรคได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาให้ครบตามขนาดของยาที่แพทย์กำหนดและไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ตัวอย่าง  ยาที่มักเกิดการดื้อยาได้แก่ ยาต่อต้านเชื้อ (Antibacterals) เช่น ยาซัลฟา เพนนิซิลิน เตตราไซคลิน สเตร็บโตไมซิน เป็นต้น
  การต้านยา มีความหมายคล้ายการดื้อยา แต่การต้านยามีผลมาจากร่างกายของผู้ใช้ยา ไม่ใช่เป็นการปรับตัวของเชื้อโรค ร่างกายจะสร้างเอ็นไซม์หรือใช้ระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายยา ทำให้การรักษาไม่ได้ผล ต้องใช้ยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอาการติดยา เช่น บาร์บิทูเรท มอร์ฟีน เป็นต้น
  2. การใช้ยาในทางที่ผิดและการติดยา (Drug Abuse and Drug Dependence) การใช้ยาในทางที่ผิด หมายถึง การนำยามาใช้ด้วยตนเอง และนำยามาใช้โดยมิใช่เป็นการรักษาโรค เป็นการใช้ยาไม่ถูกต้อง และไม่ยอมรับในทางยา
 การติดยา มักเป็นผลจากการนำยามาใช้ในทางที่ผิด เช่น แอมเฟตามีน เพื่อกระตุ้นสมองทำให้รู้สึกแจ่มใส ไม่ง่วง หรือเพื่อลดความอ้วน เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจ ให้มีความต้องการยาอยู่เสมอ และปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าขาดยาอาจทำให้ถึงตายได้ เช่นเมื่อติดยาแอเฟตามีน จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน และเสียชีวิต เพราะอาการผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด
   3. การแพ้ยา (Drug Allergy or Hypersensitivity) เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับยาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านยาชนิดนั้น เมื่อร่างกายได้รับยาชนิดเดิมอีก ตัวยาจะไปทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการแพ้ยา โดยจะมีอาการดังต่อไปนี้ มีไข้ ช็อก หอบ หืด คัดจมูก ไอจาม ลมพิษ โลหิตจาง หรืออาจเสียชีวิตได้จึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์
  4. ผลค้างเคียง (Side Effect) เป็นอาการปกติทางเภสัชวิทยาที่เกิดควบคู่กับผลทางรักษาทางยา ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมีความรุนแรงต่างกัน เช่น การใช้แอนทีฮีสตามีน มีผลในการลดน้ำมูก ลดอาการแพ้ แต่อาจมีผลค้างเคียงคือ ทำให้ง่วงนอน ซึมเซา ควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร และการขับรถ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ ได้ง่าย
  5. พิษของยา (Toxic Effect) เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในระดับที่รุนแรงจนถึงขั้นเป็นพิษเป็นผลของยาที่ใช้ ถ้ายังเพิ่มขนาดใช้ยา อาการพิษก็ยิ่งเพิ่มขึ้นจนอวัยวะนั้น ๆ พิการหรือเสื่อมสภาพไป หรือการใช้ยาในระยะเวลานานติดต่อกัน แม้จะใช้ในขนาดปกติ ก็เกิดเป็นพิษได้ เนื่องจากพิษของยาเอง เช่น คลอแรมเฟนิคอล สเตียรอยด์ แอสไพริน ถ้าใช้นาน ๆ ดเชื้อได้ง่าย ๆ พิษของยาอื่น ๆ อาจมีผลต่อระบบประสาท ระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนของโลหิต นอกจากนี้ยาบางชนิดซึ่งมารดาใช้ขณะตั้งครรภ์ จะมีผลต่อเด็กในครรภ์ขั้นรุนแรงได้
การเสื่อมและหมดอายุของยา
 ยาทุกอย่างมีการเสื่อมอายุได้ทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปเป็นสารที่มีอันตรายโดยตรง หรืออาจไม่มีอันตรายโดยตรง แต่ทำให้ความรุนแรงของยาลดลง ซึ่งอาจทำให้รักษาโรค หรืออาการไม่ได้ผลเต็มที่ และเชื้อโรคดื้อยา จึงควรสังเกตการเสื่อมของยา เช่น
  1. สังเกตกำหนดวันหมดอายุที่ภาชนะบรรจุยา โดยใช้คำว่า Exp. หรือ Exp.Date หรือ Used Before หรือ Potency Guaeanteed to. แล้วตามด้วยวัน เดือน ปี
  2. ยาที่ไม่ได้บอกวันหมดอายุที่ภาชนะบรรจุของยา อาจบอกวันผลิต โดยใช้คำว่า Mfd.Date หรือ Manfd.Date หรือ Manu.Date แล้วตามด้วยวัน เดือน ปี และอาจบอกระยะเวลาของคุณภาพยาไว้ หากไม่กำหนดไว้ไม่ควรใช้ยาที่เก็บไว้นานเกิน 5 ปี
  3. สังเกตการเปลี่ยนแปลงของยา เช่น ลักษณะสี กลิ่น รส เป็นต้น นอกจากนี้ในการซื้อยาด้วยตนเอง เราอาจได้รับยาปลอม หรือยาผิดมาตรฐาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน
อันตรายที่เกิดจากการใช้ยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน และยาเสื่อมคุณภาพ
  ยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน และยาเสื่อมคุณภาพ เป็นยาที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามผลิต ห้ามนำเข้า และห้ามขาย หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานนั้น จะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน พอจะสรุปสั้น ๆ ได้ดังนี้
   1. ถ้าผู้ป่วยได้รับยาที่มีตัวยาน้อยกว่าที่ควร หรือไม่มีตัวยาเลย ก็จะทำให้ปริมาณยาที่ได้รับนั้นน้อยจนไม่มีผลในการรักษา จะทำให้โรคไม่หายเกิดลุกลามมากขึ้น ถ้าเป็นโรคร้ายแรงอาจถึงตายได้ และถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็จะทำให้เชื้อโรคดื้อยา การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น
  2. ถ้าผู้ป่วยได้รับยาที่มีตัวยามากเกินไป ก็จะทำให้เสี่ยงต่อพิษภัยของยามากขึ้น
  3. ถ้าผู้ป่วยได้รับยาที่มีตัวยาเป็นยาอื่น ก็จะทำให้การรักษาไม่ได้ผล เช่นเดียวกับได้รับยาที่ตัวยาน้อยและยังอาจได้รับพิษจากยาที่ปนปลอมมาอีกด้วย
  4. ยาที่หมดอายุ นอกจากจะไม่มีฤทธิ์ในการรักษาแล้ว ยาที่หมดอายุแล้วบางตัวยังเป็นพิษต่อร่างกายด้วย เช่น เตตราซัยคลิน ที่หมดอายุจะเป็นพิษต่อไต
  5. ยาที่เปลี่ยนแปลงสภาพไปไม่ควรใช้ เช่น แอสไพรินที่เก็บไว้นาน ๆ จะมีผลึกของกรดซาลิซิลิค ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ระคายเคืองกระเพาะมาก และไม่ให้ผลในการบรรเทาปวดลดไข้
  ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงการใช้ยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน และยาเสื่อมคุณภาพ ก็คือซื้อยากับเภสัชกรโดยตรง ไม่ซื้อยาที่บรรจุในภาชนะที่ไม่มีฉลากแสดงชื่อยา บริษัทก็ซื้อยากับเภสัชกรโดยตรง ไม่ซื้อยาที่บรรจุไม่มีฉลากแสดงชื่อยา บริษัทผู้ผลิต หมายเลขทะเบียนยา ไม่ซื้อยาชุด ยาที่มีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ และยาที่มีผู้นำมาเร่ขาย

บทความโดย : นาย สมเกียรติ พิกุลแก้ว, รร.สตรีสมุทรปราการ489 ถ.สุขุมวิท ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ  จ.สมุทรปราการ 10270, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545

บทที่ 4 การเสริมสร้างสุขภาพ

การรวมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างสุขภาพในชุมชน 

ความหมายของสุขภาพ

              มนุษย์เกิดมาย่อมปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ความสุขของมนุษย์ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ หลายประการ ที่สำคัญคือสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ หรือการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีนั่นเอง เมื่อมนุษย์มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ จะทำให้มีความสามารถในการปรับตัว มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไร้ความกังวล ไม่มีความเครียด และไม่มีความขัดแย้งภายในสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถกระทำตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และมีสมรรถภาพในการทำงาน ดังนั้น ความหมายของคำว่า ) ขององค์การอนามัยโลก คือ ภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข มิใช่เพียงปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น
ความสำคัญของสุขภาพ
             สุขภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะความสุขหรือความทุกข์ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสุขภาพเป็นสำคัญ ความสำคัญของสุขภาพสรุปได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
           1) ความสำคัญต่อตนเอง บุคคลจะมีความสุขหรือความทุกข์ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพเป็นสำคัญ หากมีสุขภาพกายดี คือมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและมีสุขภาพจิตที่ดี คือไม่คิดอิจฉาริษยาหรืออาฆาตมาดร้ายต่อผู้อื่น ผู้นั้นย่อมมีแต่ความสุขในทางตรงกันข้าม หากสุขภาพกายไม่ดี คือร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำและมีสุขภาพจิตไม่ดี คือจิตใจฟุ้งซ่านไม่มีที่สิ้นสุด มีความริษยาอาฆาตมาดร้ายผู้อื่น ผู้นั้นจะมีแต่ความทุกข์ สุขภาพกายและจิตจะเสื่อมโทรม หาความสุขในชีวิตไม่ได้
           2) ความสำคัญต่อครอบครัว สุขภาพมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จหรือความล้มเหลวให้แก่ครอบครัว เพราะครอบครัวย่อมประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ พ่อ แม่ ลูก การที่พ่อแม่ลูกมีสุขภาพกายและจิตที่ดีย่อมทำให้ครอบครัวมีความสุข ในทางกลับกัน หากสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ความล้มเหลวในชีวิตครอบครัวย่อมจะเกิดขึ้นได้
          3) ความสำคัญต่อสังคม ในสังคมหนึ่งๆ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมาก แต่ละคนมีความแตกต่างทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมากมายทั้งปัญหาที่เกิดจากสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต อาจเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น โรคที่เกิดจากความอ้วนจนเกินไป โรคที่เกิดจากความเตรียดเพราะสภาพปัญหาทางสังคม เป็นต้น
ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพและจิตที่ดี 
          ผู้ที่มีสุขภาพที่ดีจะต้องมีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี จึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
         คนที่มีสุขภาพกายดี หมายถึง คนที่มีร่างกาย ทั้งอวัยวะต่างๆ และระบบการทำงานอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นปกติ
นที่มีสุขภาพดีจะมีลักษณะ ดังนี้
1. มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง สามารถทรงตัวได้อย่างมั่นคงและเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว
2. สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เหนื่อยเร็ว
3. อวัยวะและระบบทุกส่วนของร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นปกติ
4. อัตราการเจริญเติบโตของส่วนต่างๆ ในร่างกายเป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสม
5. ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และไม่มีโรคประจำตัว
6. สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่และมีหน้าตาสดชื่นแจ่มใส

คนที่มีสุขภาพจิตดี หมายถึง คนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ สามารถควบคุมอารมณ์ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
คนที่มีสุขภาพจิตดีจะมีลักษณะ ดังนี้
1. สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใด เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน เป็นต้น
2. มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดที่เป็นอิสระกล้าตัดสินใจด้วยตนเองอย่างมีเหตุผล ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ดื้อรั้นและพร้อมที่จะเผชิญกับผลที่จะตามมา
3. สามารถเผชิญกับความเป็นจริง โดยแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
4. สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ไม่แสดงความโกรธ เกลียดหรือรัก เสียใจ ผิดหวัง จนมากเกินไป
5. รู้จักรักผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ที่รู้จัก ไม่ใช่รักแต่ตัวเอง มีความปรารถนาและยินดีที่ผู้อื่นมีความสุขและประสบความสำเร็จ
6. มีความสุขในการทำงานด้วยความตั้งใจ ไม่ย่อท้อและไม่เปลี่ยนงานบ่อยๆ
7. มีความกระตือรือร้น มีความหวังในชีวิต สามารถทนรอคอยในสิ่งที่มุ่งหวังได้
8. มองโลกในแง่ดี ไม่หวาดระแวงและพอใจในสภาพของตนเองที่เป็นอยู่
9. มีอารมณ์ขัน หาความสุขได้จากทุกเรื่อง ไม่เครียดจนเกินไป สามารถพักผ่อนสมองและอารมณ์ได้เหมาะสมกับเวลาและโอกาส
10. รู้จักผ่อนคลายโดยการพักผ่อนในเวลา สถานที่และโอกาสที่เหมาะสม หลักการดูแลรักษาสุขภาพและ

หลักการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต มีดังนี้
มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดี โดยการรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกหลักอนามัย มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้สารอาหารครบถ้วน โดยควรรับประทานผลไม้และผักสดทุกวัน ดื่มน้ำที่สะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว ไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟ หรือเสพสารเสพติดประเภทต่างๆ
รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม การออกกำลังกายจะช่วยให้อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย จึงควรออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การเลือกประเภทของการออกกำลังกายต้องคำนึงถึงสภาพร่างกาย วัย สถานที่และความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคลด้วย
รู้จักรักษาความสะอาดของร่างกายให้เหมาะสม แต่ละบุคคลจะมีภารกิจในการทำกิจกรรม เพื่อการดำรงชีวิตแตกต่างกันและระบบขับถ่ายจะขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายตามอวัยวะต่างๆ หากไม่ทำความสะอาดจะทำให้เกิดของเสียต่างๆ หมักหมมอยู่และเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ดังนั้นทุกคนจึงควรทำความสะอาดร่างกาย โดยอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด
ขับถ่ายให้เหมาะสมและเป็นเวลา ทุกคนควรถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา วันละ 1 ครั้ง อย่ากลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะ เพราะจะทำให้ของเสียหมักหมมและเป็นอันตรายต่อระบบขับถ่ายได้ เช่น อาจจะเป็นโรคริดสีดวงทวาร โรคท้องผูก หรือโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ/เบาขัดได้
พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายมีเวลาพักเพื่อจะเริ่มทำหน้าที่ในวันต่อไปอย่างสดชื่น นอกจากร่างกายจะได้พักผ่อนแล้วยังทำให้สมองได้พักผ่อนอีกด้วย
ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ในชีวิตประจำวันแต่ละบุคคลต้องพบปะกับผู้คนมากหน้า หลายตา ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียนและสถานที่ราชการต่างๆ การที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข บุคคลย่อมต้องเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถลดความขัดแย้งต่างๆ ได้ ให้ความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
ใช้บริการสุขภาพตามระยะเวลาที่เหมาะสม หากเกิดเจ็บป่วย บุคคลต้องรู้จักใช้บริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ความเจ็บป่วยลุกลามมากยิ่งขึ้น นอกจากการใช้บริการทางสุขภาพเพื่อรักษาโรคแล้ว ยังสามารถใช้บริการทางสุขภาพเพื่อป้องกันโรคได้โดยการตรวจร่างกายเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย

แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ

บทที่ 2 ปัญหาเพศศึกษา

คนยุคใหม่ใส่ใจเรื่องเพศ
 

  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า “เพศ” หมายถึง “รูปที่แสดงให้รู้ว่า
หญิงหรือชาย  ทั่วไป คำว่า “เรื่องเพศ” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า เซ็กส์ (sex)  หมายถึง ลักษณะทางกายภาพที่บอกว่าเป็นเพศชาย หรือหญิง บางครั้งหมายถึงแรงขับหรือสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์ที่แสดงออกเป็นพฤติกรรม บางครั้งหมายถึงพฤติกรรมทางเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์
  เพศศึกษา หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ  และมีพฤติกรรมทางเพศอย่างถูกต้อง
การจัดการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้าน หมายถึง การจัดการเรียนรู้ที่มีลักษณะดังนี้
  1.สอนให้เห็นว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีสุขภาวะ
  2.สอนให้เห็นว่า การไม่มีเพศสัมพันธ์ คือ วิธีที่ได้ผลที่สุดต่อการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งเอดส์
  3.สอนให้ตระหนักถึงการให้คุณค่า และตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองให้คุณค่าควบคู่ไปกับความเข้าใจว่าครอบครัว และชุมชนที่เราอยู่ให้คุณค่าต่อสิ่งนั้นอย่างไร
  4.ให้สาระที่หลากหลายเกี่ยวกับเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการ ธรรมชาติในเรื่องเพศของมนุษย์ สัมพันธภาพ ทักษะส่วนบุคคล การแสดงออกในเรื่องเพศ สุขภาพทางเพศ มิติด้านสังคมวัฒนธรรมของเรื่องเพศ
  5.ให้ข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาไม่ปิดบังในเรื่องการทำแท้ง การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ความพึงพอใจ และรสนิยมทางเพศแบบต่างๆ
  6.ให้ข้อมูลทางบวกเกี่ยวกับเรื่องเพศ การแสดงออกทางเพศ ควบคู่ไปกับผลดีของการรักษาพรหมจรรย์
  7.สอนให้รู้ว่า การใช้ถุงยาง และสารหล่อลื่นอย่างถูกต้อง จะทำให้สามารถลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และการเกิดโรคติดทางเพศสัมพันธ์ แม้ว่าจะไม่ประกันความเสี่ยงได้ 100%
  8.สอนให้รู้ว่า การใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้อย่างไร
  9.ให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอดส์ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้อย่างไรบ้าง
  10.สอนให้ตระหนักว่า คำสอน และคุณค่าทางศาสนาที่บุคคลยึดถือมีส่วนกำหนดการดำเนินชีวิต และการแสดงออกทางเพศของบุคคลอย่างไร และให้โอกาสผู้เรียนได้สำรวจความคิด ความเชื่อของตน และครอบครัวต่อเรื่องนี้
  11.สอนให้เห็นว่า เมื่อเด็ก/วัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์ไม่ตั้งใจ และไม่พร้อมมีทางเลือกไม่ว่าจะเป็นการอุ้มครรภ์จนครบกำหนดคลอด และเลี้ยงดูทารก หรือเมื่อคลอดแล้วหาทางให้ทารกแก่ผู้อุปถัมภ์อื่น หรือยุติการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้งหากไม่พร้อมจริงๆ
             การวางตัวต่อเพศตรงข้าม
  การวางตัวต่อเพศตรงข้าม หมายถึง การที่ชายหรือหญิงประพฤติปฏิบัติต่อกัน เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันในแบบเพื่อน แบบพี่น้อง หรือแบบคู่รักภายใต้สภาพแวดล้อมตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมใน สังคมนั้น ๆ
             การวางตัวต่อเพศตรงข้ามแบบเพื่อน
             การวางตัวต่อเพศตรงข้ามแบบเพื่อน บุคคลควรปฏิบัติต่อเพศตรงข้ามในด้านการพูด การแสดงกิริยาท่าทาง และความประพฤติอื่น ๆ ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายชายไม่ล่วงเกินฝ่ายหญิงหรือที่เรียกว่า แต๊ะอั๋ง เพราะธรรมชาติของผู้ชายแล้วมักถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิง ซึ่งบางครั้งผู้หญิงจะคิดไม่ถึง การพูดคำสุภาพต่อกัน ควรช่วยเหลือกันในสิ่งที่พอจะช่วยกันได้ รู้จักแสดงความขอบคุณเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากเพศตรงข้าม ไม่ทำให้เพื่อนอับอาย เพราะเราไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเป็นที่ปรึกษาซึ่งกันและกัน มีความจริงใจต่อกัน ไม่นินทากันลับหลัง มีความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อกัน เป็นต้น ถ้าปฏิบัติต่อกันได้เช่นนี้จะทำให้มีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเดียวกันและ เพศตรงข้าม
  การวางตัวต่อเพศตรงข้ามแบบพี่น้อง 
มีทั้งฝ่ายชายเป็นพี่ฝ่ายหญิงเป็นน้องและฝ่ายชายเป็นน้องฝ่ายหญิงเป็นพี่ซึ่งการปฏิบัติ  โดย ทั่วไปก็เหมือน ๆ กับการวางตัวแบบเพื่อน แต่คนเป็นพี่ต้องเสียสละมากกว่า มีความเอ็นดูต่อน้อง ปกป้องน้อง ช่วยเหลือน้อง ให้คำแนะนำสั่งสอนน้องตามสมควร ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้อง วางตัวให้เป็นที่เคารพนับถือของน้อง สำหรับคนที่เป็นน้องก็ต้องให้ความเคารพนับถือพี่ เชื่อฟังช่วยเหลือพี่เมื่อมีโอกาสนอกจากนี้แล้วยังมีการคบกันแบบคู่รักที่แฝงมาในคราบของพี่น้อง ซึ่งฝ่ายหนึ่งอาจไม่รู้ว่าอีก ฝ่ายหนึ่งไม่ได้คิดแบบพี่น้อง หรืออาจจะรู้กันทั้งสองฝ่าย แต่บอกว่าเป็นพี่น้องเพื่อปิดบังผู้ใหญ่ แต่การคบกันแบบพี่น้องหรือแบบคู่รักนั้นผู้ใหญ่จะมองออกเพราะพฤติกรรมที่ แสดงออกต่อกันนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
  การวางตัวต่อเพศตรงข้ามแบบคู่รัก 
             การคบกันแบบคู่รักอาจจะเริ่มต้นมาจากการคบกันแบบเพื่อนหรือการคบกันแบบพี่น้อง มาก่อน แล้วก็แปรเปลี่ยนมาเป็นแบบคู่รัก หรืออาจจะคบกันแบบคู่รักเลยก็ได้ อาจจะชอบพร้อม ๆ กัน หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นฝ่ายชอบก่อน แต่ส่วนมากฝ่ายชายมักจะแสดงออกก่อน เพราะมีความกล้ามากกว่าฝ่ายหญิง แต่ในสังคมปัจจุบันเริ่มแปรเปลี่ยนไปมากแล้ว เพราะฝ่ายหญิงมีความกล้าขึ้น ความเขินอายน้อยลง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการทำลายจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมไทย
           การวางตัวโดยทั่วไปก็จะเหมือนกับการวางตัวแบบเพื่อน แต่ก็จะมีความพิเศษ ความละเอียดลึกซึ้งเพิ่มขึ้นไป เช่น ช่วยเหลือต่อกันมากขึ้น เสียสละต่อกันมากขึ้น ห่วงใยเอื้ออาทรกันมากขึ้น คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย 
             1. ขนาดและความสูง : ในวัยเด็กทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะมีความกว้างของไหล่และสะโพกใกล้ เคียงกัน   แต่ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ผู้ชายจะมีอัตราเร็วในการเจริญเติบโตของไหล่มากที่สุด ทำให้วัยรุ่นผู้ชายจะมีไหล่กว้างกว่า ในขณะที่วัยรุ่นผู้หญิงมีอัตราการเจริญเติบโตของสะโพกมาก กว่าผู้ชาย  นอก จากนี้การที่วัยนี้มีการเจริญเติบโตสูงใหญ่ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะที่ คอ แขน ขา มากกว่าที่ลำตัว จะทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าตัวเองมีรูปร่างเก้งก้างน่ารำคาญ และการเจริญเติบโตหรือการขยายขนาดของร่างกายในแต่ละส่วน อาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน หรือไม่เป็นไปตามขั้นตอน เช่น ร่างกายซีกซ้ายและซีกขวาเจริญเติบโตมีขนาดไม่เท่ากันในระยะแรกๆ  ซึ่งเป็นเหตุทำให้เด็กตกอยู่ในความวิตกกังวลสูงได้ จึงควรให้ความมั่นใจกับวัยนี้
             2. ไขมันและกล้ามเนื้อ : เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีความหนาของไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนังใกล้เคียงกัน จนกระทั่งอายุประมาณ 8 ปี  จะเริ่มมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว วัยรุ่นชายจะมีกำลังของกล้ามเนื้อมากกว่าวัยรุ่นผู้หญิง พละกำลังของกล้ามเนื้อจะแข็งแรงขึ้น  หลัง จากนั้นวัยรุ่นชายจะมีไขมันใต้ผิวหนังบางลง พร้อมๆกับมีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นชายดูผอมลงโดยเฉพาะที่ขา น่อง และแขน  สำหรับ วัยรุ่นหญิงถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของกล้ามเนื้อ แต่ขณะเดียวกันจะมีการสะสมของไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นอีกโดยที่น้ำหนักจะ เพิ่มได้ถึงร้อยละ 25 ของน้ำหนัก โดยเฉพาะไขมันที่สะสมที่เต้านมและสะโพก ประมาณร้อยละ 50 ของ วัยรุ่นหญิงจะรู้สึกไม่พอใจในรูปลักษณ์ของตน และมักคิดว่าตัวเอง "อ้วน" เกินไป มีวัยรุ่นหลายคนที่พยายามลดน้ำหนัก จนถึงขั้นที่มีรูปร่างผอมแห้ง
             3. โครงสร้างใบหน้า ช่วงนี้กระดูกของจมูกจะโตขึ้น ทำให้ดั้งจมูกเป็นสันขึ้น กระดูกขากรรไกลบนและ ขากรรไกรล่างเติบโตเร็วมากในระยะนี้ เช่นเดียวกับกล่องเสียง ลำคอ และกระดูกอัยลอยด์ และพบว่าในวัยรุ่นชายจะเจริญเติบโตเร็วกว่าวัยรุ่นหญิงชัดเจน เป็นเหตุให้วัยรุ่นชายเสียงแตก
              4. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทั้งฮอร์โมนการเติบโต (growth hormone) และ ฮอร์โมนจาก ต่อมธัยรอยด์มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโต รวมทั้งฮอร์โมนทางเพศ นอกจากระดับฮอร์โมนจะมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย และอวัยวะเพศในวัยรุ่นแล้ว ตัวของมันเองยังส่งผลถึงความรู้สึกทางอารมณ์และจิตใจ ปฏิกิริยาการเรียนรู้ ฯลฯ ในวัยรุ่นอีกด้วย วัยรุ่นที่จะผ่านช่วงวิกฤตนี้ได้ นอกจากจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังต้องเข้าใจและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่พลุ่งพล่านขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ อีกด้วยโดยเฉพาะต่อมไขมันใต้ผิวหนัง และต่อมเหงื่อจะทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาเรื่อง "สิว" และ "กลิ่นตัว" แต่เนื่องจากวัยนี้จะให้ความสนใจเกี่ยวกับร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็ว และมีความระแวดระวังตัวเองมาก จึงทำให้วัยรุ่นพยายามที่จะรักษา "สิว" อย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งๆที่ "สิว" จะเป็นปัญหาในช่วงวัยนี้แค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น
              5. การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศ วัยรุ่นหญิงมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 1 ปี ก่อนที่ จะมีประจำเดือน โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของเต้านม ซึ่งเริ่มมีการขยายในขนาดเมื่ออายุประมาณ 8-13ปี และจะใช้เวลา 2-2 ปีครึ่ง จึงจะเจริญเติบโตเต็มที่ ในช่วงอายุ 11-13 ปี วัยรุ่นหญิงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) จะ มีรูปร่างเป็นสาวเต็มตัว ดังนั้นในชั้นประถมตอนปลายหรือมัธยมต้น จะเห็นว่าวัยรุ่นสาวจะมีรูปร่างสูงใหญ่เป็นสาวน้อยแรกรุ่น ในขณะที่พวกผู้ชายยังดูเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ ทั้งๆ ที่เด็กผู้หญิงเคยตัวเล็กกว่าเด็กผู้ชายมาตลอด ทำให้เด็กสับสนและเป็นกังวลกับสภาพร่างกายได้
การมีรอบเดือนครั้งแรก จะมีเมื่ออายุประมาณ 12-13 ปี การที่มีประจำเดือนแสดงให้เห็นว่า มดลูกและช่องคลอดได้เจริญเติบโตเต็มที่ แต่ในระยะ 1-2 ปี แรกของการมีประจำเดือน มักจะเป็นการมีประจำเดือนโดยไม่มีไข่ตก รอบเดือนในช่วงปีแรกจะมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดหายไปได้  และเมื่อมีประจำเดือนแล้ว พบว่าเด็กผู้หญิงยังสูงต่อไปอีกเล็กน้อยไปได้อีกระยะหนึ่ง และจะเติบโตเต็มที่เมื่อประมาณอายุ 15-17 ปี การมีรอบเดือนครั้งแรกอาจทำให้รู้สึกพอใจและภูมิใจที่เป็นผู้หญิงเต็มตัว หรืออาจจะรู้สึกในทางลบ คือ หวั่นไหว หวาดหวั่นหรือตกใจได้เช่นกัน โดยทั่วไปการมีรอบเดือนครั้งแรกจะเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างวัยรุ่นหญิงกับ มารดาถ้าเคยไว้วางใจกันมาก่อน แต่วัยรุ่นหญิงบางคนจะปกปิดไม่กล้าบอกใคร เพราะเข้าใจไปว่าอวัยวะเพศฉีกขาด หรือเป็นแผลจากการสำรวจตัวของวัยรุ่นเอง  ใน ช่วงนี้วัยรุ่นจะกังวลหมกมุ่นกับรูปร่างหน้าตา และมักใช้เวลาอยู่หน้ากระจกนานๆ เพื่อสำรวจรูปร่าง ส่วนเว้าส่วนโค้งหรือใช้กระจกส่งดูบริเวณอวัยวะเพศด้วยความอยากรู้ อยากเห็น ซึ่งก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใด
สำหรับวัยรุ่นชาย ซึ่งจะเริ่มมีการเจริญเติบโตของลูกอัณฑะ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 10-13 ปี ครึ่ง และจะใช้เวลานาน 2 - 4 ปี กว่าที่จะเติบโตและทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่รูปร่างภายนอกจะมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงช้ากว่าวัยรุ่นหญิง ประมาณ 2 ปี คือ ประมาณอายุ 12-14 ปี ในขณะที่เพื่อนผู้หญิงที่เคยตัวเล็กกว่า กลับเจริญเติบโตแซงหน้า ทำให้วัยรุ่นชายมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่าง ความสูง ได้มาก  เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลางช่วงวัย 14-16 ปี ลูกอัณฑะเจริญเติบโตและทำงานได้เต็มที่จึงสามารถพบภาวะฝันเปียกได้ บางคนเข้าใจผิดคิดว่าฝันเปียกเกิดจากการสำรวจความใคร่ด้วยตัวเอง หรือเป็นความผิดอย่างแรง หรือทำให้สภาพจิตผิดปกติ หรือบางรายวิตกกังวลไปกับจินตนาการหรือความฝัน เพราะบางครั้งจะเป็นความคิด ความฝันเกี่ยวข้องกับคนในเพศเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างใด          
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สังคม 
  ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจได้อย่าง ตรงไปตรงมา ทั้งความวิตกกังวล หงุดหงิด หมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างที่เปลี่ยนไป
        1. ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย  เด็กผู้ชายที่เข้าสู่วัยรุ่นช้า จะมีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งอาจจะไม่มั่นใจในความเป็นชาย รู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์มักลูกล้อเลียน กลั่นแกล้งจากเพื่อนๆ ที่รูปร่างใหญ่โตกว่า มีความภาคภูมิใจในตนเองในระดับต่ำและรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยฝังใจไปได้อีก นาน วัยรุ่นหญิงที่โตเร็วกว่าเพื่อในวัยเดียวกัน (early mature) มักจะรู้สึกอึดอัดและรู้สึกเคอะเขิน ประหม่าอายต่อสายตาและคำพูดของเพศตรงข้าม ในขณะที่สภาพอารมณ์ จิตใจยังเป็นเด็ก
   2. ความวิตกกังวลกับอารมณ์เพศที่สูงขึ้น  การ เปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนทางเพศ ซึ่งจะส่งผลทำให้วัยรุ่นเกิดอารมณ์เพศขึ้นมาได้บ่อย  วัย รุ่นหลายคนที่มีกิจกรรมส่วนตัวที่เบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างดี โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ชอบเล่นกีฬากลางแจ้งเป็นประจำวัยนี้จะมีความสนใจ อยากรู้อยากเห็นอยู่แล้วเป็นทุน และเมื่อมาผสมกับการที่มีระดับฮอร์โมนทางเพศเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะหัดสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อยากรู้อยากเห็นกิจกรรมทางเพศผู้ใหญ่ควรเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดร่วมกับ ความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่น ควรให้ความรู้ในเรื่องเพศที่ถูกต้อง และถือว่าความรู้สึกในวัยนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งการที่วัยรุ่นจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองนั้น ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย และไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรม ถ้ากระทำอย่างระมัดระวังเป็นส่วนตัว และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น
  3.       ความวิตกกังวลกลัวการเป็นผู้ใหญ่   วัย นี้จะมีความคิดวิตกกังวล กลัวจะไม่เป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง มักจะ กลัวความรับผิดชอบ ซึ่งจะรู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักหนา ยุ่งยาก บางครั้งอยากจะเป็นเด็ก อยากแสดงอารมณ์สนุกสนาน ร่าเริง เบิกบาน
             4.       ความวิตกกังวลในความงดงามทางร่างกาย   ไม่ ว่าวัยรุ่นหญิงหรือชายก็จะมีความรู้สึกต้องการให้คนรอบข้าง ชื่นชมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกของตน สมเพศ สมวัย นั่นเป็นเพราะว่าเด็กจะสำนึกว่าความสวยงามทางกายเป็นแรงจูงใจ ทำให้คนยอมรับ ทำให้เพื่อนยอมรับเข้าไปในกลุ่มได้ง่าย เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะเข้าสู่สังคมและเป็นที่ดึงดูดใจของเพศตรงข้าม ช่วงนี้จะเห็นว่าวัยรุ่นจะสนอกสนใจ พิถีพิถันในการเลือกเสื้อผ้า การหวีผม เอาใจใส่ต่อการออกกำลังกาย สนใจคุณค่าทางอาหาร เครื่องประดับ สุขภาพอนามัย การวางตัวให้สมบทบาททางเพศ การวางตัวในสังคม และความสนใจในแต่ละเรื่องอาจอยู่ได้ไม่นาน
การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ 
           1.ความรักและความห่วงใย   ความ รู้สึกอยากที่จะถูกรัก และยังอยากได้รับความเอาใจใส่ ห่วงใยจากบุคคลที่มีความสำคัญต่อเด็ก แต่มักจะมีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ใช่การแสดงออกของพ่อแม่ที่ทำกับเขาราวกับเด็ก เล็กๆ ไม่ต้องการความเจ้ากี้เจ้าการ ไม่ต้องการให้แสดงความห่วงใยอยู่ตลอดเวลา
           2. เป็นอิสระอยากทำอะไรได้ด้วยตัวของตัวเอง   อยาก ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดแล้วว่าดี อยากมีส่วนในการตัดสินใจ อยากที่จะทำตัวห่างจากพ่อแม่ ห่างจากคำสั่งการเจริญเติบโตในการทำงานของสมอง ทำให้เด็กวัยนี้เริ่มมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง เริ่มมีความคิดแบบนามธรรม (abstract thinking) การแยกจากพ่อแม่ในเกือบทุกรูปแบบ บางครั้งอาจทำให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกสับสน สองจิตสองใจ และอาจมีความรู้สึก "สูญ เสีย" ในความรัก ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ แต่ถ้าพวกเขายอมรับการดูแลหรือยอมทำตามคำสั่งของพ่อแม่ ก็จะไปขัดกับความต้องการที่จะเป็นเด็กโต เป็นอิสระของตนเองที่ต้องการพึ่งพาตนเอง การให้การเลี้ยงดูจึงต้องอาศัยความเข้าใจ และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลด้วย
          3. ต้องการเป็นตัวของตัวเอง   ความ ต้องการที่ ยอมรับในสิ่งที่มาจากตัวของตัวเขาทำให้พวกเขามั่นใจในตัวเอง พ่อแม่คงต้องส่งเสริมให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามวัย เพราะในการฝึกเด็กนั้น นอกจากจะทำให้เด็กได้ใช้มือได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ยังช่วยทำให้เด็กได้หัดคิด หัดตัดสินใจในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วย
         4. อยากรู้, อยากเห็น, อยากลอง  การ ลองผิดลองถูก และคอยสังเกตดูจากปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อตัดสินว่าสิ่งที่ทำนั้น ดีเลวเป็นอย่างไรวัยที่โตขึ้น เมื่อความสามารถเพิ่มขึ้น ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมา สิ่งรอบตัวต่างๆ ที่น่าสนใจ และท้าทายความสามารถก็จะเริ่มเข้ามาเพื่อทดลองการสนับสนุนส่งเสริมเด็กให้คง สภาพอยากรู้ อยากเห็น อยากลองและได้มีโอกาสทดลองสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ในขอบเขตที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นตามวัย จะทำให้เด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่นด้วยความภาคภูมิใจที่ตนเองเคยมีประสบการณ์ ต่างๆ มาบ้างสิ่งเหล่านี้จะมาเสริมความภาคภูมิใจในตนเองดังนั้นจะเห็นว่าการฝึกสอน และให้โอกาสเด็กได้ทดลองทำในสิ่งที่ถูกต้อง ควรฝึกสอนมาตั้งแต่เด็ก และควรค่อยๆ สอนถึงอันตรายในหลายสิ่งหลายอย่างที่มีอยู่ในสังคม และวิธีการแก้ไข เรียนรู้ทั้งสิ่งที่ดีและเลว การฝึกให้เด็กได้ลองในสิ่งที่น่าลอง แต่สนอให้หัดยั้งตัวเองในสิ่งที่อันตรายจึงเป็นวิธีที่สำคัญมาตั้งแต่วัย เรียน            แต่ ในทางตรงกันข้ามในกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยถูกฝึกให้ลองคิด ลองทำก่อน จะเกิดความสับสน วุ่นวายใจขาดความรู้ ขากทักษะ ขาดการฝึกฝน ขาดการลองทำผิดทำถูกมาก่อน จึงทำให้กลุ่มนี้ตกอยู่ในกลุ่มที่มีอันตรายสูง และในกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่พ่อแม่ปล่อยปละละเลย หรือไม่เคยสอนให้ยับยั้งชั่งใจมาก่อน นึกอยากทำอะไรก็จะทำ ไม่เคยต้องผิดหวัง ไม่เคยสนใจว่าการกระทำของตัวจะส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างอย่างไร พฤติกรรม อยากลองของ มักจะมีสูงสุดในช่วงวัยรุ่นตอนกลาง เป็นเด็กก็ไม่ใช่ เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง แนวความคิดและการยับยั้งตัวเองมีไม่มากพอ
           5. ความถูกต้อง ยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง มักจะถือว่าความยุติธรรมเป็นลักษณะหนึ่งของความเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่นจึงให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับความถูกต้อง ยุติธรรมตามทัศนะของตนเป็นอย่างยิ่ง และอยากจะทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ทั้งในแง่บุคคลและสังคมส่วนรวม จึงมักจะเห็นภาพวัยรุ่นถกเถียงกันเรื่องของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
          6. ความตื่นเต้น ท้าทาย ความต้องการหาประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ เกลียดความจำเจซ้ำซาก  วัย รุ่นกลุ่มนี้จะสร้างความตื่นเต้นท้าทายกับการที่กระทำผิดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ ของทางบ้านและกฏของสังคมนั่นเป็นเพราะว่าเป็นความตื่นเต้นและความรู้สึกว่า ถูกท้าทาย   แนวทางการเลี้ยงดูเด็กฝึกให้เด็กได้มี โอกาสทำงานที่ท้าทายความสามารถทีละน้อยอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลทำให้เด็กได้พัฒนาความเชี่ยวชาญขึ้นมาได้ แก้ปัญหาได้
         7.ต้องการการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ของกลุ่มเพื่อน     พื้น ฐานการเลี้ยงดูที่ยอมรับและมีความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่เด็ก จะมีผลทำให้เด็กเกิดความรู้สึก ดังที่กล่าวมานี้อย่างง่ายดาย จากการฝึกฝนให้โอกาสเด็กในการตัดสินใจลงมือกระทำหรือแสดงความคิดเห็นใน เรื่องต่างๆ และรับฟังพยายามทำความเข้าใจตาม ถ้าเบี่ยงเบนก็ช่วยแก้ไข ถ้าถูกต้องก็ชมเชยและชื่นชม สิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เด็กเกิดความรู้สึกเป็นที่ยอมรับจากบุคคลภายใน บ้าน ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กอยากเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน จากครูและจากคนอื่นๆ ต่อๆ ไป จึงเป็นเหตุผลจูงใจกระทำความดีมากขึ้นๆ
แต่ ในกรณีตรงกันข้าม ถ้าเด็กคนใดเกิดมาในครอบครัวที่ยุ่งเหยิง ทำให้พ่อแม่ไม่มีปัญหาพอที่จะดูแลเด็ก กลับจะต้องส่งเด็กมาฝากให้ญาติเลี้ยงเป็นภาระ ไม่มีใครเป็นธุระจัดการอะไรให้อย่างออกนอกหน้า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยอยากจะรับรู้ รับฟังเรื่องของเด็ก ถึงเวลาจะนานก็ไม่รู้ว่าใครจะให้ความอบอุ่นเมตตาหรือรักได้ มีความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ต้องการของใครแม้แต่คนเดียวในบ้านไม่ว่าจะถูกหรือทำผิด ทำดีหรือทำชั่วก็ไม่มีคนเห็นคนทัก หาคนที่หวังดีจริงจังในการแนะนำตักเตือนอดทนช่วยฝึกสอนก็ไม่มี ในลักษณะเช่นนี้เด็กจะมีชีวิตที่เลื่อนลอย ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นสมาชิกภายในบ้าน เป็นคนหนึ่งภายในครอบครัว ไม่มีใครรับฟังปัญหา หรือไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร เมื่อเติบโตไปโรงเรียนก็มักจะพกพาเอาความรู้สึกโดดเดี่ยว ว้าเหว่นี้ไปที่โรงเรียน ความที่ทักษะไม่ได้ถูกฝึกสอนมาตั้งแต่ที่บ้านจึงทำให้ผลการเรียนไม่ดี และมักจะแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน
การควบคุมอารมณ์ทางเพศ
การจัดการกับอารมณ์เพศอาจแบ่งตามความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 การควบคุมอารมณ์ทางเพศ อาจทำได้ 2 วิธี คือ
         1.  การควบคุมจิตใจตนเอง  พยายามข่มใจตนเอง  มิให้เกิดอารมณ์ทางเพศได้ หรือถ้าเกิดอารมณ์ทางเพศ ก็ให้พยายามข่มใจไว้ไม่ให้เกิดอารมณ์ทางเพศ เพื่อให้อารมณ์ทางเพศค่อยๆ ลดลงจนสู่สภาพอารมณ์ที่ปกติ
         2.  การหลีกเลี่ยงจากสิ่งเร้า   สิ่งเร้าภายนอกที่ยั่วยุอารมณ์ทางเพศหรือยั่วกิเลส ย่อมทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศได้ ดังนั้น การตัดไฟเสียแต่ต้นลม คือหลีกเลี่ยงจากสิ่งเร้าเหล่านั้นเสียก็จะช่วยให้ไม่เกิดอารมณ์ได้ เช่น ไม่ดูสื่อลามกต่างๆไม่เที่ยวกลางคืนเป็นต้น
ระดับที่ 2  การเบี่ยงเบนอารมณ์ทางเพศ
           ถ้า เกิดอารมณ์ทางเพศจนไม่อาจควบคุมได้ควรใช้วิธีการเบี่ยงเบนเปลี่ยนให้ไปสนใจ ในสิ่งอื่นแทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ทางเพศเช่น ไปออกกำลังกาย ประกอบกิจกรรมนันทนาการต่างๆให้สนุกสนานเพลิดเพลิน ไปทำงานต่างๆเพื่อให้จิตใจมุ่งที่งาน ไปพูดคุยสนทนากับคนอื่น เป็นต้น
ระดับที่ 3  การปลดปล่อยหรือระบายอารมณ์ทางเพศ      
          ถ้าเกิดอารมณ์ทางเพศระดับมากจนเบี่ยงเบนไม่ได้ หรือสถานการณ์นั้นอาจทำให้ไม่มี โอกาสเบี่ยงเบนอารมณ์ทางเพศก็อาจปลดปล่อย หรือระบายอารมณ์ทางเพศด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพของวัยรุ่นซึ่งเป็นนักเรียนโดยทำได้ 2 ประการ คือ
           1.  โดยการฝันนั่นก็คือการฝันเปียก (Wet Dream)ในเพศชาย ซึ่งการฝันนี้เราไม่สามารถบังคับให้ฝันหรือไม่ให้ฝันได้ แต่จะเกิดขึ้นเองเมื่อเราสนใจหรือมีความรู้สึกในทางเพศมากจนเกินไปหรืออาจเกิดการสะสมของน้ำอสุจิมีมากจนล้นถุงเก็บน้ำอสุจิธรรมชาติก็จะระบายน้ำอสุจิออกมาโดยการให้ฝันเกี่ยวกับเรื่องเพศจนถึงจุดสุดยอด และมีการหลั่งน้ำอสุจิออกมา
           2. การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการช่วยเหลือตัว เอง(Masturbation)ทำได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งผู้ชายแทบทุกคนมักมีประสบการณ์ในเรื่องนี้แต่ผู้หญิงนั้นมีเป็นบางคนที่มีประสบการณ์  ในเรื่องนี้ การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นเรื่องธรรมชาติของคนเรา เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศจนหยุดยั้งไม่ได้ เพราะการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองไม่ ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน แต่ไม่ควรกระทำบ่อยนัก

          วิธีควบคุมอารมณ์ทางเพศ  
          1. ให้ความสนใจกับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อความก้าวหน้า และ ความสำเร็จในการดำเนินชีวิตในอนาคต    
        2. หลีกเลี่ยงการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศจากสื่อต่างๆที่เป็นสิ่งเร้าทำให้เกิด อารมณ์ทางเพศเช่นหนังสือต่างๆ
การดูภาพยนตร์หรือวีดีโอที่ยั่วยุอารมณ์ทางเพศ หรือไม่ควรอยู่ตามลำพังกับเพื่อนต่างเพศในที่ลับตาคน        
         3. สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเช่นดนตรี กีฬา  หรือ วาดรูป  เพื่อจะได้เบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์ทางเพศและยังทำให้สุขภาพกายและสุขภาพ จิตดีด้วย
         ข้อคิดดีๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์เรื่องเพศ
         การมีเพศสัมพันธ์ นอกจากเป็นวิถีทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ยังมีผลพลอยได้เกิดขึ้นตามมาอีกด้วย นักวิชาการที่ช่างสรรหาเรื่องวิจัยระบุว่า ผลพลอยได้จากการมีเพศสัมพันธ์ สะท้อนออกมาทางกระบวนการทางชีววิทยา ดังนี้
  1. เซ็กซ์คือการบำรุงความงาม การทดลองทางวิทยาศาสตร์ พบว่าขณะผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์ เธอจะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมาปริมาณมาก ซึ่งทำให้เส้นผมเป็นเงางามและผิวพรรณนุ่มนวล
  2. เพศสัมพันธ์ที่อ่อนโยนและผ่อนคลาย ช่วยลดการอักเสบทางผิวหนัง เช่น สิวและผื่นต่างๆ เหงื่อที่ไหลออกมาเป็นตัวชะล้างรูขุมขน ทำให้ผิวผ่องใส
  3. เพศสัมพันธ์ช่วยเผาผลาญแคลอรีที่คุณกินเข้าไปช่วงมื้อค่ำอันโรแมนติก
  4. เซ็กซ์คือการออกกำลังกายที่ปลอดภัยที่สุด ทั้งช่วยยืดเส้นยืดสายและทำให้กล้ามเนื้อตึงในทุกๆ ส่วนของร่างกาย อีกทั้งน่าสนุกกว่าจ๊อกกิ้งหรือว่ายน้ำสัก 20 เที่ยวเป็นไหนๆ แถมยังไม่ต้องใช้รองเท้ากีฬาแพงๆ
  5. เซ็กซ์ช่วยลดความตึงเครียดได้ดียิ่ง กิจกรรมทางเพศช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟินส์ในกระแสเลือดทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น
  6. มีเซ็กซ์บ่อยๆ คุณยิ่งได้รับสารเคมีที่ชื่อ ฟีโรโมนส์ (Pheromones) มากยิ่งขึ้น
  7. กลิ่นตัวที่ถูกขับออกมาขณะมีความต้องการทางเพศ เป็น 'น้ำหอม' ที่ช่วยกระตุ้นให้เพศตรงข้ามคึกคักได้อย่างเหลือเชื่อ
  8. จูบกันทุกวันลดอาการฟันผุ การจูบกระตุ้นน้ำลายให้ขับน้ำลายออกมา จึงช่วยชะล้างฟันของคุณให้สะอาด
  9. เซ็กซ์แก้ปวดหัวตลอดกระบวนการทางเพศจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดซึ่งไปปิดกั้นหลอดเลือดในสมองไว้
  10. ร่วมเพศบ่อยๆ ช่วยแก้อาการคัดจมูก เพราะเซ็กซ์เป็นยาแอนตี้ฮิสตามีนจากธรรมชาติ แก้อาการแพ้ฝุ่นแพ้ละอองได้ดี
  11. เซ็กซ์จะเป็นยานอนหลับที่มีประสิทธิภาพดีกว่า แวเลี่ยม (Valium) หลายเท่า
 วัฒนธรรมทางเพศ หมายถึง  วัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทางเพศ ได้แก่ ระเบียบ จารีตประเพณี ศีลธรรมและจริยธรรมอันดีงามของคนไทยในด้านความประพฤติเกี่ยวกับเพศซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือและสืบทอดปฏิบัติต่อเนื่องกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันซึ่งได้ส่งผลให้ครอบครัวและสังคมไทยมีความสงบสุขร่มเย็น

แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ