About

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

บทที่ 5 โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม


           โรคทางพันธุกรรม หรือ โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็น โรคที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของฝั่งพ่อและแม่ หากหน่วยพันธุกรรมของพ่อและแม่มีความผิดปกติแฝงอยู่ โดยความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการผ่าเหล่าของหน่วยพันธุกรรมบรรพบุรุษ ทำให้หน่วยพันธุกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมได้

โรคมะเร็ง
           มะเร็ง คือ กลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ ที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ รวดเร็ว และมากกว่าปกติ ดังนั้น จึงอาจทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติ และในที่สุดก็จะ ทำให้เกิดการตายของเซลล์ในก้อนเนื้อนั้น เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะการ เจริญเติบโตของหลอดเลือด ถ้าเซลล์พวกนี้เกิดอยู่ในอวัยวะใดก็จะ เรียกชื่อ มะเร็ง ตามอวัยวะนั้นเช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็ง เม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง
อาการและการแสดงออกของโรคมะเร็ง
           1.ไม่มีอาการใดเลยในช่วงแรกขณะที่ร่างกายมีเซลล์มะเร็งเป็นจำนวนน้อย
           2. มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งตามสัญญาณอันตราย 8 ประการ ที่เป็นสัญญาณเตือน ว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจค้นหาโรคมะเร็ง หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีสัญญาณ เหล่านี้ เพื่อการรักษาและแก้ไขทางการแพทย์ที่ถูกต้องก่อนที่จะกลายเป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งระยะลุกลาม
           3. มีอาการป่วยของโรคทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ร่างกายทรุดโทรม ไม่สดชื่น และไม่แจ่มใส
           4. มีอาการที่บ่งบอกว่า มะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม หรือเป็นมาก ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็ง ชนิดใดและมีการกระจายของโรคอยู่ที่ส่วนใดของร่างกายที่สำคัญที่สุดของอาการในกลุ่ม นี้ ได้แก่ อาการเจ็บปวด ที่แสนทุกข์ทรมาน
สัญญาณอันตราย 8 ประการ ของโรคมะเร็ง
           1.มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด
           2. กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน
           3. มีอาการเสียงแหบ และไอเรื้อรัง
           4. มีเลือดหรือตกขาวที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น
           5. แผลซึ่งรักษาแล้วไม่ยอมหาย
           6. มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย
           7. มีก้อนที่เต้านมหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
           8. หูอื้อหรือมีเลือดกำเดาไหล

การป้องกันมะเร็ง
  1. รับประทานผักตระกูลกะหล่ำให้มาก เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บรอคโคลี่ ฯลฯเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ส่วนปลาย กระเพาะอาหาร และอวัยวะระบบทางเดินหายใจ
  2..รับประทานอาหารที่มีกากมากเช่น ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด และเมล็ดธัญพืชอื่นๆเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3.รับประทานอาหารที่มีเบต้า- แคโรทีน และ ไวตามินเอ สูงเช่น ผัก ผลไม้ สีเขียว-เหลืองเพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร กล่องเสียง และปอด
  4.รับประทานอาหารที่มีไวตามินซีสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่าง ๆ เพื่อป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร และ กระเพาะอาหาร
  5.ควบคุมน้ำหนักตัวโรคอ้วนมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งมดลูก ถุงน้ำดี เต้านม และลำไส้ใหญ่ การออก กำลังกายและการลดรับประทานอาหารที่ให้ พลังงานสูง จะช่วยป้องกันมะเร็ง เหล่านี้ได้
พฤติกรรมการกินลดการเสี่ยงโรคมะเร็ง
  1.ไม่รับประทานอาหารที่มีราขึ้น อาหารที่มีราขึ้นโดยเฉพาะสีเขียว-เหลือง จะมีสารอัลฟาทอกซินปนเปื้อนซึ่งอาจเป็น สาเหตุของโรคมะเร็งตับ
  2. ลดอาหารไขมันอาหารไขมันสูงจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่และต่อมลูกหมาก
  3.ลดอาหารดองเค็ม อาหารปิ้ง-ย่าง รมควัน และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนเตรท- ไนไตร์ทอาหารเหล่านี้ จะทำให้เสี่ยงต่อ มะเร็ง หลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
  4.ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม ฯลฯจะทำให้เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ และเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งของท่อน้ำดีในตับ
  5.หยุดหรือลดการสูบบุหรี่การสูบบุหรี่ จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งปอด กล่องเสียง ฯลฯ การเคี้ยว ยาสูบจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปาก และช่องคอ
  6.ลดการดื่มแอลกอฮอล์ดื่มแอลกอฮอล์ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ตับ ถ้าทั้งดื่มและสูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการ เป็นมะเร็งช่องปาก ช่องคอ กล่องเสียง และหลอดอาหาร
  7. อย่าตากแดดตากแดดจัดมากเกินไป จะเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งผิวหนัง
ตาบอดสี (Color blindness)
          เป็นภาวะการมองเห็นผิดปกติ โดยมากเป็นการตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด และมักพบในเพศชายมากกว่า เพราะเป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อยบนโครโมโซม ผู้ที่เป็นตาบอดสีส่วนใหญ่จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีเขียวและสีแดงได้ จึงมีปัญหาในการดูสัญญาณไฟจราจร รองลงมาคือ สีน้ำเงินกับสีเหลือง หรืออาจเห็นแต่ภาพขาวดำ และความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นกับตาทั้งสองข้าง ไม่สามารถรักษาได้
ฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
          โรคฮีโมฟีเลีย คือ โรคเลือดออกไหลไม่หยุด หรือเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็น โรคทางพันธุกรรม ที่พบมากในเพศชาย เพราะยีนที่กำหนดอาการโรคฮีโมฟีเลียจะอยู่ใน โครโมโซม X และถ่ายทอดยีนความผิดปกตินี้ให้ลูก ส่วนผู้หญิงหากได้รับโครโมโซม X ที่ผิดปกติ ก็จะไม่แสดงอาการ เนื่องจากมี โครโมโซม X อีกตัวข่มอยู่ แต่จะแฝงพาหะแทน
          ลักษณะอาการ คือ เลือดของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจะไม่สามารถแข็งตัวได้ เนื่องจากขาดสารที่ทำให้เลือดแข็งตัว อาการที่สังเกตได้ เช่น เลือดออกมากผิดปกติ เลือดกำเดาไหลบ่อย ข้อบวม เกิดแผลฟกช้ำขึ้นเอง แต่โรคฮีโมฟีเลียนี้ สามารถรักษาได้ โดยการใช้สารช่วยให้เลือดแข็งตัวทดแทน
โรคทาลัสซีเมีย ( Thalassemia )
          โรคทาลัสซีเมีย     เป็นโรคเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้มีการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดเลือดผิดปกติ จึงทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าปกติ แตกง่าย ถูกทำลายง่าย ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จึงมีเลือดจาง โรคนี้พบได้ทั้งหญิงและชายปริมาณเท่าๆ กัน ถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ทางพันธุกรรมพบได้ทั่วโลก และพบมากในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
           ในประเทศไทยพบผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมียร้อยละ 1 คือประมาณ 6 แสนคน แต่พบผู้เป็นพาหะถึงร้อยละ 30-40 คือประมาณ 20-25 ล้านคน ดังนั้นถ้าหากผู้เป็นพาหะมาแต่งงานกัน และพบยีนผิดปกติร่วมกัน ลูกก็อาจเป็น โรคทาลัสซีเมียได้ ทั้งนี้ โรคทาลัสซีเมีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แอลฟาธาลัสซีเมีย และ เบต้าธาลัสซีเมีย ซึ่งก็คือ ถ้ามีความผิดปกติของสายแอลฟา ก็เรียกแอลฟาธาลัสซีเมีย และถ้ามีความผิดปกติของสายเบต้าก็เรียกเบต้าธาลัสซีเมีย
         ผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมีย จะมีอาการซีด ตาขาวสีเหลือง ตัวเหลือง ตับม้ามโตมาตั้งแต่เกิด ผิวหนังดำคล้ำ กระดูกใบหน้าจะเปลี่ยนรูป มีจมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มนูนสูง กระดูกเปราะ หักง่าย เจริญเติบโตช้ากว่าคนปกติ ส่วนอาการนั้น อาจจะไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตเลยก็ได้ คนที่มีอาการมากจะมีอาการเลือดจางมาก ต้องให้เลือดเป็นประจำ หรือมีภาวะติดเชื้อบ่อย ๆ ทำให้เป็นไข้หวัดได้บ่อยข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย โรคทาลัสซีเมีย คือ ให้ทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง เช่น ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ให้มาก ๆ เพื่อนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดง
โรคคนเผือก (Albinos)
          ผู้ที่เป็น โรคคนเผือก คือ คนที่ไม่มีเม็ดสีที่ผิวหนัง จะมีผิวหนัง ผม ขน และม่านตาสีซีด หรือีขาว เพราะขาดเม็ดสีเมลานิน หรือมีน้อยกว่าปกติ ทำให้ทนแสงแดดจ้าไม่ค่อยได้
โรคดักแด้
          ผู้เป็น โรคดักแด้ จะมีผิวหนังแห้งแตก ตกสะเก็ด ซึ่งแต่ละคนจะมีความรุนแรงของโรคต่างกัน บางคนผิวแห้งไม่มาก บางคนผิวลอกทั้งตัว ขณะที่บางคนหากเป็นรุนแรงก็มักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่เข้าทางผิวหนัง
โรคท้าวแสนปม (neurofibromatosis) 
          เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดโดยโครโมโซม ลักษณะที่พบคือ ร่างกายจะมีตุ่มเต็มไปทั่วร่างกาย ขนาดเล็กไปจนใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือชนิดที่พบบ่อย พบประมาณ 1 ใน 2,500 ถึง 3,500 คน โดยพบอาการอย่างน้อย 2 ใน 7 อาการต่อไปนี้คือ มีปานสีกาแฟใส่นมอย่างน้อย 6 ตำแหน่ง, พบก้อนเนื้องอกตามผิวหนัง 2 ตุ่มขึ้นไป, พบกระที่บริเวณรักแร้หรือขาหนีบ, พบเนื้องอกของเส้นประสาทตา, พบเนื้องอกของม่านตา 2 แห่งขึ้นไป, พบความผิดปกติของกระดูก และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้  ส่วน โรคท้าวแสนปม ประเภทที่ 2 พบได้น้อยมาก ราว 1 ใน 50,000 ถึง 120,000 คน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางผิวหนัง แต่จะพบเนื้องอกของหูชั้นใน และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคลูคีเมีย (Leukemia)
          โรคลูคีเมีย หรือ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวจำนวนมากในไขกระดูก จนเบียดบังการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่วนเม็ดเลือดขาวที่สร้างนั้น ก็เป็นเม็ดเลือดขาวตัวอ่อน จึงไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้ จึงเป็นไข้บ่อย ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคลูคีเมีย มีหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม กัมมันตภาพรังสี การติดเชื้อ เป็นต้น อาการของผู้ป่วย ลูคีเมีย จะแสดงออกมาในหลายรูปแบบ เช่น มีไข้สูง เป็นหวัดเรื้อรัง หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวซีด เซลล์ลูคีเมียจะไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดอาการบวมโต บางคนเป็นรุนแรง ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ การรักษา โรคลูคีเมีย ทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดขาว หรืออาจใช้เคมีบำบัด เพื่อให้ไขกระดูกกลับมาทำหน้าที่ตามปกติ
โรคเบาหวาน
          โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทั้งนี้โรคเบาหวาน ถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง และเป็น โรคทางพันธุกรรม โดยหากพ่อแม่เป็นเบาหวาน ก็อาจถ่ายทอดไปถึงลูกหลานได้และนอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อม วิธีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกันอาการทั่วไปของผู้ที่เป็น โรคเบาหวาน คือจะปัสสาวะบ่อย เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำจากเลือดออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อถ่ายปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ต้องคอยดื่มน้ำบ่อย ๆ และด้วยความที่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน ไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง นอกจากนี้ การมีน้ำตาลคั่งอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ จึงทำให้อวัยวะต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย โดยเฉพาะ โรคไตวายเรื้อรัง  หลอดเลือดตีบตีน  อัมพฤกษ์ อัมพาต ต้อกระจก  เบาหวานขึ้นตา ฯลฯ
การป้องกันโรคทางพันธุกรรม
          โรคทางพันธุกรรม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากกจะติดตัวไปตลอดชีวิต ทำได้แต่เพียงบรรเทาอาการไม่ให้เกิดขึ้นมากเท่านั้น ดังนั้นการป้องกัน โรคทางพันธุกรรม ที่ดีที่สุด คือ ก่อนแต่งงาน รวมทั้งก่อนมีบุตร คู่สมรสควรตรวจร่างกาย กรองสภาพทางพันธุกรรมเสียก่อน เพื่อทราบระดับเสี่ยง อีกทั้งโรคทางพันธุกรรม บางโรค สามารถตรวจพบได้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ จึงเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทารกที่จะเกิดมา มีความเสี่ยงในการเป็นโรคทางพันธุกรรมน้อยลง
โรคภูมิแพ้ 
        โรคภูมิแพ้ หรือโรคแพ้ (Allergy) หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการไวผิดปกติต่อสิ่งซึ่งสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ (Allergen) ซึ่งธรรมชาติสารเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้กับคนปกติทั่วไป  อาการของโรคโรคภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกาย บางคนอาจมีอาการภูมิแพ้ในระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบ โรคภูมิแพ้นั้นเป็นโรคที่สามารถพิสูจน์หาสาเหตุของโรคและสามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยบางคนเริ่มจากอาการแพ้อากาศเรื้อรัง เยื่อจมูกอักเสบ เมื่อไม่ได้ใส่ใจรักษา ต่อมาอาจกลายเป็นโรคหอบหืด โรคผื่นคันผิวหนัง เช่น เป็นลมพิษ ปวดศีรษะเรื้อรัง โรคอ่อนเพลียต่างๆ เป็นต้น
การป้องกันและรักษาวิธีรักษาโรคภูมิแพ้ทีดีที่สุดคือการค้นหาสาเหตุของการแพ้นั้นให้พบ เช่น การสอบถามประวัติและอาการของโรค พร้อมทั้งวิเคราะห์สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว เช่น บ้าน รถยนต์ โรงเรียน สัตว์เลี้ยง งานอดิเรก ตรวจร่างกายและทดสอบทางผิวหนัง เมื่อทราบว่าแพ้สารใดแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสารที่ให้เกิดภูมิแพ้ที่ถูกต้องและอาการของโรคภูมิแพ้ก็จะทุเลา มีวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้อีกประการหนึ่งที่เป็นการรักษาได้ผลดีพอสมควร ได้แก่การหาสาเหตุของโรคภูมิแพ้ให้พบแล้วนำสารก่อภูมิแพ้ที่ตรวจพบนี้นำมาผลิตวัคซีนให้ผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสารที่แพ้ (อิมมูโนบำบัด) คือ รักษาให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานสารที่แพ้ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การรักษาเพื่อ ลดภูมิไว คือให้ร่างกายลดความไวต่อสารที่ก่อให้เกิดโรค
โรคขาดสารอาหาร หมายถึง โรคที่เกิดขึ้นจากการขาดสารอาหารที่ควรได้รับอย่างพอเพียงในภาวะหนึ่งๆ ซึ่งมีสาเหตุต่างกัน ดังนี้
  1. ได้รับปริมาณน้อยเกินไปจากการขาดความรู้ที่จะเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าหรือจากภาวะทางเศรษฐกิจ
  2. ร่างกายมีความต้องการมากขึ้น เช่น ในภาวะเจ็บป่วย ฟื้นไข้
  3. ความอยากอาหารน้อย การย่อยอาหารไม่ดี
  4. มีการทำลายแหล่งสร้างอาหารในร่างกาย
  5. ยาหรือสารบางชนิดที่มีผลต่อระบบย่อยอาหารของร่างกาย
โรคขาดสารอาหารที่พบมาก ได้แก่
  1. โรคขาดโปรตีนและแคลอรี
  2. โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  3. โรคเหน็บชา
  4. โรคกระดูกอ่อน
  5.โรคคอพอก
  6. โรคตาฟาง
  7. โรคลักปิดลักเปิด
  1.โรคขาดโปรตีนและแคลอรี   เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน  คาร์โบไฮเดรต  และไขมันที่มีคุณภาพดีไม่เพียงพอ  เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี  โดยเฉพาะทารกและเด็กก่อนวัยเรียน  อันเนื่องมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เอาใจใส่เริ่งการกินอาหารหรือไม่มีความรู้ทางโภชนาการดีพอ  ลักษณะอาการของโรคมี 2 รูปแบบ  คือ  ควาซิออร์กอร์ ( Kwashiorkor ) และมาราสมัส
( Marasmus )
  1.1.ควาชิออร์กอร์  เป็นลักษณะอาการที่เกิดจากการขาดสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างมาก  มักเกิดกับทารกที่เลี้ยงด้วยนมข้นหวาน  นมผงผสม  และให้อาหารเสริมประเภทข้าวหรือแป้งเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ร่างกายขาดโปรตีนสำหรับการเจริญเติบโตและระบบต่าง ๆ บกพร่อง  ทารกจะมีอาการซีด  บวมที่หน้า  ขา  และลำตัว  เส้นผมบางเปราะและร่วงหลุดง่าย  ผิวหนังแห้งหยาบ  มีอาการซึมเศร้า  มีความต้านทานโรคต่ำ   ติดเชื้อง่าย  และสติปัญญาเสื่อม
  1.2.มาราสมัส   เป็นลักษณะอาการที่เกิดจากการขาดสารอาหรประเภท โปรตีน  คาร์โบไฮเดรตและไขมันผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการคล้ายกับเป็นควาชิออร์กอร์แต่ไม่มีอาการบวมที่ท้อง  หน้า  และขา  นอกจากนี้ร่างกายจะผอมแห้ง  ศรีษะโตพุงโร  ผิวหนังเหี่ยวย่นเหมือนคนแก่  ลอกออกเป็นชั้นได้  และท้องเสียบ่อยอย่างไรก็ตาม  อาจมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะทั้งควาชิออร์กอร์  และมาราสมัสในคนเดียวกันได้     ประเภทควาชิออร์กอร์และมาราสมัส
  จากการสำรวจพบว่า  ทารกและเด็กก่อนวัยเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นโรคขาดโปรตีน  และแคลอรีมากที่สุด   นอกจากนี้จากรายงานสถานภาพโภชนาการในประเทศไทยของกองโภชนาการ  กรมอนามัย  ยังพบอีกว่าในหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตรโดยเฉพาะในชนบทมีภาวะโภชนาการไม่ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์   มีอาการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย   และขณะตั้งครรภ์งดกินอาหารประเภทโปรตีน    เพราะเชื้อว่าเป็นของแสลงทำให้ได้รับพลังงานเพียงร้อยละ  80  และโปรตีนร้อยละ 62 - 69  ของปริมาณที่ควรได้รับ
  การขาดสารอาหารประเภทโปรตีนเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยรุ่น  ด้วยเหตุนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการส่งเสริมให้เลี้ยงทารกด้วยนมมารดามากขึ้น  และส่งเสริมให้เด็กดื่มนมวัวน้ำนมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น  เพราะน้ำนมเป็นสารอาหารที่สมบูรณ์ที่สุดเนื่องจากประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ ครบทั้ง 5 ประเภท
  นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีหน่วยงานหลายแห่งได้ศึกษาค้นคว้าหาวิธีการผลิตอาหารที่ให้คุณค่าโปรตีนแต่มีราคาไม่แพงนัก  ให้คนที่มีรายได้น้อยได้กินกันมากขึ้น  สถาบันค้นคว้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร   มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ได้ค้นคว้าทดลองผลิตอาหารโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนโปรตีนจากสัตว์  เช่น  ใช้ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่เรียกว่า  โปรตีนเกษตร  ที่ผลิตในรูปของเนื้อเทียม  และโปรตีนจากสาหร่ายสีเขียว  เป็นต้น
  2.โรคขาดวิตามิน
โรคขาดวิตามินที่พบในประเทศไทยส่วนมากเป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินเอ  วิตามินบีหนึ่ง  วิตามินบีสอง  และวิตามินซี  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  2.1.โรคขาดวิตามินเอ   เกิดจากอาหารที่มีไขมันต่ำและมีวิตามินเอน้อยคนที่ขาดวิตามินเอ  ถ้าเป็นเด็กการเจริญเติบโตหยุดชะงัก  สุขภาพอ่อนแอ  ผิวหนังหยาบแห้งมีตุ่มสาก ๆ เหมือนหนังคางคกเนื่องจากการอักเสบบริเวณก้น  แขน  ขา  ข้อศอก  เข่า  และหน้าอก  นอกจากนี้จะมีอาการอักเสบในช่องจมูก  หู  ปาก  ต่อมน้ำลาย  เยื่อบุตาและกระจกตาขาวและตาดำจะแห้ง   ตาขาวจะเป็นแผลเป็นที่เรียกว่า  เกล็ดกระดี่   ตาดำขุ่นหนาและอ่อนเหลวถ้าเป็นรุนแรงจะมีผลทำให้ตาบอดได้  ถ้าไม่ถึงกับตาบอดก็อาจจะมองไม่เห็นในที่สลัวหรือปรับตาในความมืดไม่ได้  เรียกว่า  ตาฟาง  หรือ  ตาบอดกลางคืน
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินเอ   ทำได้โดยการกินอาหารที่มีไขมันและอาหารจำพวกผลไม้  ผักใบเขียว  ผักใบเหลือง  เช่น  มะละกอ  มะม่วงสุก  ผักบุ้ง  คะน้า  ตำลึง  มันเทศ  ไข่  นม  สำหรับทารกควรได้กินอาหารเสริมที่ผสมกับตับหรือไข่แดงบด
  2.2.โรคขาดวิตามินบีหนึ่ง  เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินบีต่ำและกินอาหารที่ไปขัดขวางการดูดซึมวิตามินบีหนึ่ง  คนที่ขาดวิตามินบีหนึ่งจะเป็นโรคเหน็บชาซึ้งจะมีอาการชาทั้งมือและเท้า   กล้ามเนื้อแขนและขาไม่มีกำลัง  ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการบวมร่วมด้วย  ถ้าเป็นมากจะมีอาการใจสั่นหัวใจโตและเต้นเร็ว  หอบ  เหนื่อย  และอาจตายได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินบีหนึ่ง  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่งให้เพียงพอและเป็นประจำ   เช่น  ข้าวซ้อมมือ  ตับ  ถั่วเมล็ดแห้ง  และเนื้อสัตว์  และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายวิตามินบีหนึ่ง  เช่น  ปลาร้าดิบ  หอยดิบ  หมาก เมี่ยง  ใบชา  เป็นต้น
  2.3.โรคขาดวิตามินบีสอง  เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินบี สองไม่เพียงพอ  คนที่ขาดวิตามินบีสองมักจะเป็นแผลหรือรอยแตกที่มุมปากทั้งสองข้างหรือซอกจมูกมีเกล็ดใสเล็ก ๆ ลิ้นมีสีแดงกว่าปกติและเจ็บ  หรือมีแผลที่ผนังภายในปากรู้สึกคันและปวดแสบปวดร้อนที่ตา  อาการเหล่านี้เรียกว่า  เป็นโรคปากนกกระจอก  คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการ  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  และอารมณ์หงุดหงิด
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินบีสอง  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีวิตามินบีสองให้เพียงพอและเป็นประจำ  เช่น  นมสด  นมปรุงแต่ง  นมถั่วเหลือง  น้ำเต้าหู้  ถั่วเมล็ดแห้งข้าวซ้อมมือ  ผัก  ผลไม้  เป็นต้น
  2.4.โรคขาดวิตามินซี  เกิดจากการกินอาหารที่มีวิตามินซีไม่เพียงพอ  คนที่ขาดวิตามินซีมักจะเจ็บป่วยบ่อย  เนื่องจากมีความต้านทานโรคต่ำ  เหงือกบวมแดง  เลือดออกง่าย  ถ้าเป็นมากฟันจะโยกรวน  และมีเลือดออกตามไรฟันง่าย  อาการเหล่านี้เรียกว่าเป็น  โรคลักปิดลักเปิด
  การรักษาและป้องกันโรคขาดวิตามินซี   ทำได้โดยการกินอาหารที่มีวิตามินซีให้เพียงพอและเป็นประจำ  เช่น  ส้ม  มะนาว  มะขามป้อม  มะเขือเทศ  ฝรั่ง  ผักชี  เป็นต้น  จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า  โรคขาดวิตามิน  ส่วนมากมักจะเกี่ยวกับวิตามินประเภทละลายได้ในน้ำ  เช่น  วิตามินบี  วิตามินอี  และวิตามินเค  มักจะไม่ค่อยเป็นปัญหาโภชนาการ   ทั้งนี้เพราะวิตามินเหล่านี้บางชนิดร่างกายของคนเราสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเเองได้  เช่น  วิตามินดี  ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งและได้รับแสงอาทิตย์เพียงพอ  รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์สามารถเปลี่ยนสารที่เป็นไขมันชนิดหนึ่งใต้ผิวหนังที่เป็นวิตามินดีได้  วิตามินเค  ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้จากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่
  3.โรคขาดแร่ธาตุ  แร่ธาตุนอกจากจะเป็นสารอาหารที่ช่วยในการควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำหน้าที่ปกติแล้ว  ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกายอีกด้วย  เช่น  เป็นส่วนประกอกบของกระดูกและฟัน  เลือด  กล้ามเนื้อ  เป็นต้น  ดังที่กล่าวแล้ว  ดังนั้น  ถ้าร่างกายขาดแร่ธาตุก็อาจจะทำให้การทำหน้าที่ของอวัยวะผิดปกติ  และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้  ดังนี้
               3.1.โรคขาดธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส  เกิดจากการกินอาหารที่มีแคลเซียมยมและฟอสฟอรัสไม่เพียงพอ  คนที่ขาดแคลเซียมและฟอสฟอรัสจะเป็นโรคกระดูกอ่อน  มักเป็นกับเด็ก  หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร  ทำให้ข้อต่อกระดูกบวม ขาโค้งโก่ง กล้ามเนื้อหย่อน กระดูกซี่โครงด้านหน้ารอยต่อนูน ทำให้หน้าอกเป็นสันที่เรียกว่าอกไก่ ในวัยเด็กจะทำให้เจริญเติบโตช้า โรคกระดูดอ่อนนอกจากจะเกิดการขาดแร่ธาตุทั้งสองแล้ว ยังเกิดจาการได้รับแสงแดดไม่เพียงพออีกด้วย
               การรักษาและป้องกันโรคขาดธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้มากและเป็นประจำ  เช่น  นมสด  ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก  ผักสีเขียว  น้ำมันตับปลา เป็นต้น                            
               3.2.โรคขาดธาตุเหล็ก   เกิดจากการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอหรือเกิดจากความผิดปกติในระบบการย่อยและการดูดซึม  คนที่ขาดธาตุเหล็กจะเป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากร่างกายสร้างเฮโมโกลบินได้น้อยกว่าปกติ  ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร   มีความต้านทานโรคต่ำ  เปลือกตาขาวซีด  ลิ้นอักเสบ  เล็บบางเปราะ  และสมรรถภาพในการทำงานเสื่อม            
                 การรักษาและป้องกันโรคขาดธาตุเหล็ก  ทำได้โดยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กและโปรตีนสูงเป็นประจำ   เช่น  ตับเครื่องในสัตว์  เนื้อสัตว์  ผักสีเขียว  เป็นต้น
                3.3.โรคขาดธาตุไอโอดีน  เกิดจากการกินอาหารที่มีไอโอดีนต่ำหรืออาหารที่มีสารขัดขวางการใช้ไอโอดีนในร่างกาย  คนที่ขาดธาตุไอโอดีนจะเป็นโรคคอพอก  และต่อมไทรอยด์บวมโต  ถ้าเป็นตั้งแต่เด็กจะมีผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจ  ร่างกายเจริญเติบโตช้า  เตี้ย  แคระแกร็น  สติปัญญาเสื่อม  อาจเป็นใบ้หรือหูหนวกด้วย  คนไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นโรคนี้กันมาก  บางทีเรียกโรคนี้ว่า
โรคเอ๋อ
                   การรักษาและป้องกันโรคขาดธาตุไอโอดีน  ทำได้โดยการกินอาหารทะเลให้มาก  เช่น  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  เป็นต้น  ถ้าไม่สามารถหาอาหารทะเลได้ก็ควรบริโภคเกลืออนามัย  ซึ่งเป็นเกลือสมุทรผสมไอโอดีนที่ใช้ในการประกอบอาหารแทนได้  นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารขัดขวางการใช้ไอโอดีน  เช่น  พืชตระกูลกระหล่ำปลี  ซึ่งก่อนกินควรต้มเสียก่อน

แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ

1 ความคิดเห็น: