About

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

บทที่ 6 การปลอดภัยจากการใช้ยา

เรื่อง ยาสามัญประจำบ้าน

           ยาสามัญประจำบ้าน หมายถึง ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน โดยมุ่งหมายที่จะให้ประชาชนได้ใช้ยาเหล่านี้รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ และไม่มีอาการรุนแรง เช่น ไอ ปวดศีรษะ ถูกน้ำร้อนลวก ท้องอืดท้องเฟ้อ ถูกมีดบาด เป็นต้น
ยาสามัญประจำบ้าน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยาตำราหลวง เป็นยาที่สามารถหาซื้อได้ มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีราคาถูก สามารถซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
          ยาสามัญประจำบ้าน คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาคัดเลือกว่าเป็นยาที่เหมาะสมที่จะให้ประชาชนหาซื้อมาใช้ได้ด้วยตนเอง เพื่อการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่มักจะเกิดขึ้นได้ จัดเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง หากใช้อย่างถูกต้องก็จะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น ประกอบกับราคาย่อมเยา หาซื้อได้ทั่วไป เพราะกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ยาสามัญประจำบ้านกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนดูแลตนเองได้อย่างทั่วถึง จึงไม่บังคับให้ขายในร้านขายยาเหมือนยาอื่นๆ ทั้งนี้ ยาสามัญประจำบ้านมีทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ ยาสามัญประจำบ้านมีทั้งหมด 53 ชนิด นำมาใช้กับโรคหรืออาการของโรคได้ 16 กลุ่ม ดังนี้
          1.ยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาสามัญประจำบ้านในกลุ่มนี้คือ ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง ยาเม็ดแก้ท้องอืดท้องเฟ้อโซดามินต์ ยาขับลม ย.าน้ำแก้ท้องอืดท้องเฟ้อโซเดียมไบคาร์บอเนต ยาทาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อทิงเจอร์มหาหิงค์ ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา-แมกนีเซีย ยาน้ำลดกรดอะลูมินา-แมกนีเซีย
          2.ยาบรรเทาปวดลดไข้ มียาเม็ดบรรเทาปวดลดไข้แอสไพริน ยาเม็ดบรรเทาปวดลดไข้พาราเซตามอลขนาด 500 ม.ก.และขนาด 325 ม.ก.และยาน้ำบรรเทาปวดลดไข้พาราเซตามอล ปลาสเตอร์บรรเทาปวด
          3.ยาดม หรือยาทาแก้วิงเวียนหน้ามืด คัดจมูก ได้แก่ ยาดมแก้วิงเวียนเหล้าแอมโมเนียหอม ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
          4.ยาแก้เมารถ เมาเรือ ได้แก่ ยาแก้เมารถเมาเรือไดเมนไฮดริเนท
          5.ยาสำหรับโรคปากและลำคอ ได้แก่ ยากวาดคอ ยารักษาลิ้นเป็นฝ้าเยนเชี่ยนไวโอเลต ยาแก้ปวดฟัน ยาดมบรรเทาอาการระคายคอ
          6.ยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คือ รักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีนครีม
          7.ยาสำหรับโรคผิวหนัง มี ยารักษาหิดเหาเบนซิลเบนโซเอต ยารักษาหิดขี้ผึ้งกำมะถัน ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง ยาทาแก้ผดผื่นคันคาลาไมน์ ยารักษาเกลื้อนโซเดียมไทโอซัลเฟต
          8.ยาแก้ท้องเสีย มี ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่
          9.ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย คือยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง
          10. ยาระบาย ประกอบด้วย ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก ยาระบายกลีเซอรีนชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่ ยาระบายแมกนีเซีย ยาระบายมะขามแขก ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ชนิดสวนทวาร
          11.ยาถ่ายพยาธิลำไส้ มียาถ่ายพยาธิตัวกลมมีเบนดาโซล ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม ได้แก่ พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิเข็มหมุด พยาธิแส้ม้า
          12.ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก มียาเม็ดแก้แพ้ลดน้ำมูกคลอร์เฟนิรามีน
          13.ยาแก้ไอ ขับเสมหะ ประกอบด้วย ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก ยาแก้ไอน้ำดำ
          14.ยาสำหรับโรคตา มี ยาหยอดตาซัลฟาเซตาไมด์ ยาล้างตา
          15.ยาใส่แผล ยาล้างแผล มี ยาใส่แผลทิงเจอร์ไอโอดีน ยาใส่แผลทิงเจอร์ไทเมอรอซอล ยาใส่แผลโพวิโดนไอโอดีน ยาไอโซโบรฟิลแอลกอฮอล์ ยาเอทธิลแอลกอฮอล์ น้ำเกลือล้างแผล
          16.ยาบำรุงร่างกาย ได้แก่ ยาเม็ดวิตามินบีรวม ยาเม็ดวิตามินซี ยาเม็ดบำรุงโลหิตเฟอร์รัสซัลเฟต ยาเม็ดวิตามินรวม ยาน้ำมันตับ
อันตรายจากการใช้ยา
  1. การดื้อยาและการต้านยา (Drug Resistance and Drug Tolerance)
  การดื้อยา เป็นภาวะที่เชื้อโรคต่างๆที่เคยถูกทำลายด้วยยาชนิดหนึ่งๆ สามารถปรับตัวจนกระทั่งยานั้นไม่สามารถทำลาย ได้อีกต่อไป เชื้อโรคที่ดื้อยาแล้วจะสามารถถ่ายทอดคุณสมบัตินี้ไปยังเชื้อโรครุ่นต่อไป ทำให้การใช้ยาชนิดเดิมไม่สามารถ ใช้ทำลายหรือรักษาโรคได้ ดังนั้นจึงควรใช้ยาให้ครบตามขนาดของยาที่แพทย์กำหนดและไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ตัวอย่าง  ยาที่มักเกิดการดื้อยาได้แก่ ยาต่อต้านเชื้อ (Antibacterals) เช่น ยาซัลฟา เพนนิซิลิน เตตราไซคลิน สเตร็บโตไมซิน เป็นต้น
  การต้านยา มีความหมายคล้ายการดื้อยา แต่การต้านยามีผลมาจากร่างกายของผู้ใช้ยา ไม่ใช่เป็นการปรับตัวของเชื้อโรค ร่างกายจะสร้างเอ็นไซม์หรือใช้ระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายยา ทำให้การรักษาไม่ได้ผล ต้องใช้ยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอาการติดยา เช่น บาร์บิทูเรท มอร์ฟีน เป็นต้น
  2. การใช้ยาในทางที่ผิดและการติดยา (Drug Abuse and Drug Dependence) การใช้ยาในทางที่ผิด หมายถึง การนำยามาใช้ด้วยตนเอง และนำยามาใช้โดยมิใช่เป็นการรักษาโรค เป็นการใช้ยาไม่ถูกต้อง และไม่ยอมรับในทางยา
 การติดยา มักเป็นผลจากการนำยามาใช้ในทางที่ผิด เช่น แอมเฟตามีน เพื่อกระตุ้นสมองทำให้รู้สึกแจ่มใส ไม่ง่วง หรือเพื่อลดความอ้วน เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆจะมีผลต่อร่างกายและจิตใจ ให้มีความต้องการยาอยู่เสมอ และปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าขาดยาอาจทำให้ถึงตายได้ เช่นเมื่อติดยาแอเฟตามีน จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน และเสียชีวิต เพราะอาการผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด
   3. การแพ้ยา (Drug Allergy or Hypersensitivity) เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับยาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านยาชนิดนั้น เมื่อร่างกายได้รับยาชนิดเดิมอีก ตัวยาจะไปทำปฏิกิริยากับภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการแพ้ยา โดยจะมีอาการดังต่อไปนี้ มีไข้ ช็อก หอบ หืด คัดจมูก ไอจาม ลมพิษ โลหิตจาง หรืออาจเสียชีวิตได้จึงไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์
  4. ผลค้างเคียง (Side Effect) เป็นอาการปกติทางเภสัชวิทยาที่เกิดควบคู่กับผลทางรักษาทางยา ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมีความรุนแรงต่างกัน เช่น การใช้แอนทีฮีสตามีน มีผลในการลดน้ำมูก ลดอาการแพ้ แต่อาจมีผลค้างเคียงคือ ทำให้ง่วงนอน ซึมเซา ควรหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักร และการขับรถ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุ ได้ง่าย
  5. พิษของยา (Toxic Effect) เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในระดับที่รุนแรงจนถึงขั้นเป็นพิษเป็นผลของยาที่ใช้ ถ้ายังเพิ่มขนาดใช้ยา อาการพิษก็ยิ่งเพิ่มขึ้นจนอวัยวะนั้น ๆ พิการหรือเสื่อมสภาพไป หรือการใช้ยาในระยะเวลานานติดต่อกัน แม้จะใช้ในขนาดปกติ ก็เกิดเป็นพิษได้ เนื่องจากพิษของยาเอง เช่น คลอแรมเฟนิคอล สเตียรอยด์ แอสไพริน ถ้าใช้นาน ๆ ดเชื้อได้ง่าย ๆ พิษของยาอื่น ๆ อาจมีผลต่อระบบประสาท ระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนของโลหิต นอกจากนี้ยาบางชนิดซึ่งมารดาใช้ขณะตั้งครรภ์ จะมีผลต่อเด็กในครรภ์ขั้นรุนแรงได้
การเสื่อมและหมดอายุของยา
 ยาทุกอย่างมีการเสื่อมอายุได้ทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนไปเป็นสารที่มีอันตรายโดยตรง หรืออาจไม่มีอันตรายโดยตรง แต่ทำให้ความรุนแรงของยาลดลง ซึ่งอาจทำให้รักษาโรค หรืออาการไม่ได้ผลเต็มที่ และเชื้อโรคดื้อยา จึงควรสังเกตการเสื่อมของยา เช่น
  1. สังเกตกำหนดวันหมดอายุที่ภาชนะบรรจุยา โดยใช้คำว่า Exp. หรือ Exp.Date หรือ Used Before หรือ Potency Guaeanteed to. แล้วตามด้วยวัน เดือน ปี
  2. ยาที่ไม่ได้บอกวันหมดอายุที่ภาชนะบรรจุของยา อาจบอกวันผลิต โดยใช้คำว่า Mfd.Date หรือ Manfd.Date หรือ Manu.Date แล้วตามด้วยวัน เดือน ปี และอาจบอกระยะเวลาของคุณภาพยาไว้ หากไม่กำหนดไว้ไม่ควรใช้ยาที่เก็บไว้นานเกิน 5 ปี
  3. สังเกตการเปลี่ยนแปลงของยา เช่น ลักษณะสี กลิ่น รส เป็นต้น นอกจากนี้ในการซื้อยาด้วยตนเอง เราอาจได้รับยาปลอม หรือยาผิดมาตรฐาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน
อันตรายที่เกิดจากการใช้ยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน และยาเสื่อมคุณภาพ
  ยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน และยาเสื่อมคุณภาพ เป็นยาที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามผลิต ห้ามนำเข้า และห้ามขาย หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากการใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานนั้น จะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน พอจะสรุปสั้น ๆ ได้ดังนี้
   1. ถ้าผู้ป่วยได้รับยาที่มีตัวยาน้อยกว่าที่ควร หรือไม่มีตัวยาเลย ก็จะทำให้ปริมาณยาที่ได้รับนั้นน้อยจนไม่มีผลในการรักษา จะทำให้โรคไม่หายเกิดลุกลามมากขึ้น ถ้าเป็นโรคร้ายแรงอาจถึงตายได้ และถ้าเป็นยาปฏิชีวนะก็จะทำให้เชื้อโรคดื้อยา การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น
  2. ถ้าผู้ป่วยได้รับยาที่มีตัวยามากเกินไป ก็จะทำให้เสี่ยงต่อพิษภัยของยามากขึ้น
  3. ถ้าผู้ป่วยได้รับยาที่มีตัวยาเป็นยาอื่น ก็จะทำให้การรักษาไม่ได้ผล เช่นเดียวกับได้รับยาที่ตัวยาน้อยและยังอาจได้รับพิษจากยาที่ปนปลอมมาอีกด้วย
  4. ยาที่หมดอายุ นอกจากจะไม่มีฤทธิ์ในการรักษาแล้ว ยาที่หมดอายุแล้วบางตัวยังเป็นพิษต่อร่างกายด้วย เช่น เตตราซัยคลิน ที่หมดอายุจะเป็นพิษต่อไต
  5. ยาที่เปลี่ยนแปลงสภาพไปไม่ควรใช้ เช่น แอสไพรินที่เก็บไว้นาน ๆ จะมีผลึกของกรดซาลิซิลิค ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ระคายเคืองกระเพาะมาก และไม่ให้ผลในการบรรเทาปวดลดไข้
  ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงการใช้ยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน และยาเสื่อมคุณภาพ ก็คือซื้อยากับเภสัชกรโดยตรง ไม่ซื้อยาที่บรรจุในภาชนะที่ไม่มีฉลากแสดงชื่อยา บริษัทก็ซื้อยากับเภสัชกรโดยตรง ไม่ซื้อยาที่บรรจุไม่มีฉลากแสดงชื่อยา บริษัทผู้ผลิต หมายเลขทะเบียนยา ไม่ซื้อยาชุด ยาที่มีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ และยาที่มีผู้นำมาเร่ขาย

บทความโดย : นาย สมเกียรติ พิกุลแก้ว, รร.สตรีสมุทรปราการ489 ถ.สุขุมวิท ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ  จ.สมุทรปราการ 10270, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น