About

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

บทที่ 4 การเสริมสร้างสุขภาพ

การรวมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างสุขภาพในชุมชน 

ความหมายของสุขภาพ

              มนุษย์เกิดมาย่อมปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ความสุขของมนุษย์ย่อมขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ หลายประการ ที่สำคัญคือสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ หรือการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีนั่นเอง เมื่อมนุษย์มีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ จะทำให้มีความสามารถในการปรับตัว มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไร้ความกังวล ไม่มีความเครียด และไม่มีความขัดแย้งภายในสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถกระทำตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และมีสมรรถภาพในการทำงาน ดังนั้น ความหมายของคำว่า ) ขององค์การอนามัยโลก คือ ภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข มิใช่เพียงปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น
ความสำคัญของสุขภาพ
             สุขภาพมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะความสุขหรือความทุกข์ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสุขภาพเป็นสำคัญ ความสำคัญของสุขภาพสรุปได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
           1) ความสำคัญต่อตนเอง บุคคลจะมีความสุขหรือความทุกข์ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพเป็นสำคัญ หากมีสุขภาพกายดี คือมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนและมีสุขภาพจิตที่ดี คือไม่คิดอิจฉาริษยาหรืออาฆาตมาดร้ายต่อผู้อื่น ผู้นั้นย่อมมีแต่ความสุขในทางตรงกันข้าม หากสุขภาพกายไม่ดี คือร่างกายไม่แข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นประจำและมีสุขภาพจิตไม่ดี คือจิตใจฟุ้งซ่านไม่มีที่สิ้นสุด มีความริษยาอาฆาตมาดร้ายผู้อื่น ผู้นั้นจะมีแต่ความทุกข์ สุขภาพกายและจิตจะเสื่อมโทรม หาความสุขในชีวิตไม่ได้
           2) ความสำคัญต่อครอบครัว สุขภาพมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จหรือความล้มเหลวให้แก่ครอบครัว เพราะครอบครัวย่อมประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ พ่อ แม่ ลูก การที่พ่อแม่ลูกมีสุขภาพกายและจิตที่ดีย่อมทำให้ครอบครัวมีความสุข ในทางกลับกัน หากสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาทางสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ความล้มเหลวในชีวิตครอบครัวย่อมจะเกิดขึ้นได้
          3) ความสำคัญต่อสังคม ในสังคมหนึ่งๆ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมาก แต่ละคนมีความแตกต่างทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมากมายทั้งปัญหาที่เกิดจากสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต อาจเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น โรคที่เกิดจากความอ้วนจนเกินไป โรคที่เกิดจากความเตรียดเพราะสภาพปัญหาทางสังคม เป็นต้น
ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพและจิตที่ดี 
          ผู้ที่มีสุขภาพที่ดีจะต้องมีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี จึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
         คนที่มีสุขภาพกายดี หมายถึง คนที่มีร่างกาย ทั้งอวัยวะต่างๆ และระบบการทำงานอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นปกติ
นที่มีสุขภาพดีจะมีลักษณะ ดังนี้
1. มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง สามารถทรงตัวได้อย่างมั่นคงและเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว
2. สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เหนื่อยเร็ว
3. อวัยวะและระบบทุกส่วนของร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นปกติ
4. อัตราการเจริญเติบโตของส่วนต่างๆ ในร่างกายเป็นไปตามวัยอย่างเหมาะสม
5. ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และไม่มีโรคประจำตัว
6. สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่และมีหน้าตาสดชื่นแจ่มใส

คนที่มีสุขภาพจิตดี หมายถึง คนที่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ สามารถควบคุมอารมณ์ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
คนที่มีสุขภาพจิตดีจะมีลักษณะ ดังนี้
1. สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใด เช่น ที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน เป็นต้น
2. มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดที่เป็นอิสระกล้าตัดสินใจด้วยตนเองอย่างมีเหตุผล ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ดื้อรั้นและพร้อมที่จะเผชิญกับผลที่จะตามมา
3. สามารถเผชิญกับความเป็นจริง โดยแสดงออกได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
4. สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ไม่แสดงความโกรธ เกลียดหรือรัก เสียใจ ผิดหวัง จนมากเกินไป
5. รู้จักรักผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิดหรือผู้ที่รู้จัก ไม่ใช่รักแต่ตัวเอง มีความปรารถนาและยินดีที่ผู้อื่นมีความสุขและประสบความสำเร็จ
6. มีความสุขในการทำงานด้วยความตั้งใจ ไม่ย่อท้อและไม่เปลี่ยนงานบ่อยๆ
7. มีความกระตือรือร้น มีความหวังในชีวิต สามารถทนรอคอยในสิ่งที่มุ่งหวังได้
8. มองโลกในแง่ดี ไม่หวาดระแวงและพอใจในสภาพของตนเองที่เป็นอยู่
9. มีอารมณ์ขัน หาความสุขได้จากทุกเรื่อง ไม่เครียดจนเกินไป สามารถพักผ่อนสมองและอารมณ์ได้เหมาะสมกับเวลาและโอกาส
10. รู้จักผ่อนคลายโดยการพักผ่อนในเวลา สถานที่และโอกาสที่เหมาะสม หลักการดูแลรักษาสุขภาพและ

หลักการดูแลรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต มีดังนี้
มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดี โดยการรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกหลักอนามัย มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้สารอาหารครบถ้วน โดยควรรับประทานผลไม้และผักสดทุกวัน ดื่มน้ำที่สะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว ไม่ควรดื่มน้ำชา กาแฟ หรือเสพสารเสพติดประเภทต่างๆ
รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม การออกกำลังกายจะช่วยให้อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย จึงควรออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที การเลือกประเภทของการออกกำลังกายต้องคำนึงถึงสภาพร่างกาย วัย สถานที่และความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของแต่ละบุคคลด้วย
รู้จักรักษาความสะอาดของร่างกายให้เหมาะสม แต่ละบุคคลจะมีภารกิจในการทำกิจกรรม เพื่อการดำรงชีวิตแตกต่างกันและระบบขับถ่ายจะขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายตามอวัยวะต่างๆ หากไม่ทำความสะอาดจะทำให้เกิดของเสียต่างๆ หมักหมมอยู่และเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ดังนั้นทุกคนจึงควรทำความสะอาดร่างกาย โดยอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด
ขับถ่ายให้เหมาะสมและเป็นเวลา ทุกคนควรถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา วันละ 1 ครั้ง อย่ากลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะ เพราะจะทำให้ของเสียหมักหมมและเป็นอันตรายต่อระบบขับถ่ายได้ เช่น อาจจะเป็นโรคริดสีดวงทวาร โรคท้องผูก หรือโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ/เบาขัดได้
พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายมีเวลาพักเพื่อจะเริ่มทำหน้าที่ในวันต่อไปอย่างสดชื่น นอกจากร่างกายจะได้พักผ่อนแล้วยังทำให้สมองได้พักผ่อนอีกด้วย
ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ในชีวิตประจำวันแต่ละบุคคลต้องพบปะกับผู้คนมากหน้า หลายตา ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียนและสถานที่ราชการต่างๆ การที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข บุคคลย่อมต้องเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถลดความขัดแย้งต่างๆ ได้ ให้ความเห็นอกเห็นใจและเอื้ออาทรต่อผู้อื่น
ใช้บริการสุขภาพตามระยะเวลาที่เหมาะสม หากเกิดเจ็บป่วย บุคคลต้องรู้จักใช้บริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ความเจ็บป่วยลุกลามมากยิ่งขึ้น นอกจากการใช้บริการทางสุขภาพเพื่อรักษาโรคแล้ว ยังสามารถใช้บริการทางสุขภาพเพื่อป้องกันโรคได้โดยการตรวจร่างกายเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย

แหล่งที่มา : หนังสือเรียนสาระทักษะการดำเนินชีวิต รายวิชา สุขศึกษา พลศึกษา ทช31002 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2554 หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2554สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ

1 ความคิดเห็น: